สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

วิสัยทัศน์และจุดยืนของนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ย.ม.ท.)คนปัจจุบัน

สมาคมคนเคร่ง

โดย อัล อัค


           ถ้าจะสังเกต ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียกร้องให้คนเคร่งศาสนา เหตุผลหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าคำว่า “เคร่ง” เป็นคำไทยๆ ที่ไม่เหมาะที่จะอธิบายการยืนหยัดมั่นคงในศาสนา(อิสติกอมะฮฺ) เพราะคำว่าเคร่งจะถูกมองไปที่การกระทำตัวให้อยู่ในระเบียบวินัยจัด ผมคิดว่าการเอาศาสนาในแนวคิดอิสลามไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่หมายถึงการสำนึกยำเกรงต่ออัลลอฮฺ คำที่ใช้สำหรับคนที่ดำรงอยู่ในศาสนาคือ คำว่ามุตตะกีน คือคนยำเกรงอัลลอฮฺหรือมีความตักวา หรือคำว่ามุหฺสินีน คือคนมีคุณธรรมสมบูรญ์แบบ ซึ่งหมายถึงมีอิหฺสานที่ถูกอธิบายโดยท่านนบีว่า “กระทำอิบาดะฮฺ(การเคารพสักการะและยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ)เสมือนหนึ่งเห็นอัลลอฮฺ...”
ถ้าจะสังเกตต่อไป เวลาเกิดกรณีโต้แย้งกันเรื่องระหว่างคนเคร่งไม่เคร่งที่เกี่ยวพันกับการทำงานดะอฺวะฮฺและการปฏิบัติตัวในสังคม เช่น“องค์กรเคร่งมาก จนคนเคร่งอยู่ไม่ได้” หรือ“เคร่งกับมุสลิมีน ไม่คุยด้วย แต่กับกาฟิรเรียนหนังสือด้วยกัน” ฯลฯ แม้จะผมฟังประเด็นแบบนี้มากเป็นสิบปี แต่ผมจะไม่ร่วมวงโต้แย้งทั้งสองฝ่าย
            เหตุผลของเรื่องนี้อันดับแรกคือ เป็นเรื่องที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ผมมีปัญหากับคำว่าเคร่งที่คนไทยใช้ๆกันอยู่... ถ้ามันถูกอธิบายใหม่ด้วยคำว่าตักวาหรือศัพท์อิสลามตัวอื่นๆ การอ่านปัญหาเรื่องนี้จะง่ายขึ้น... นอกจากนี้ผมคิดว่าประเด็นเรื่องนี้มีรายละเอียดการปฏิบัติหลายเรื่องมาเกี่ยวพัน ซึ่งแต่ละฝ่ายยังไม่แม่นยำพอในเรื่องกรอบนิติศาสตร์อิสลาม เช่น ในเรื่องการปกปิดเอารัต ในเรื่องการพูดคุยระหว่างชายหญิง การใช้ม่าน เป็นต้น ก็เลยทำให้โต้แย้งกันไม่รู้จบ
สำหรับผมแล้วประเด็นที่สำคัญมากในการมองปัญหาเรื่องนี้คือการเข้าใจศาสตร์ในการดะอฺวะฮฺ และการรู้จักสภาพความแตกต่างของสังคม... ธรรมชาติของกลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางกลุ่มหรือองค์กรจะมีแต่คนที่เป็นแบบเดียวกัน โดยวางเงื่อนไขอย่างชัดเจน เช่น บางกลุ่มรับเฉพาะผู้หญิงที่คลุมหิญาบอย่างถูกต้องแล้ว หรือบางกลุ่มรับเฉพาะผู้ชายทั้งหมด... นี่เป็นทรรศนะหนึ่งในการจัดตั้งกลุ่มทำงานจำนวนมากในทุกวันนี้ ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องคนเคร่งคนไม่เคร่ง แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าทรรศนะแบบอื่นในการตั้งกลุ่มจะผิด หากไม่ได้ทำตามแบบแผนนี้
              เมื่อไม่นานผมได้เข้าไปรับผิดชอบงาน “สมาคม” หนึ่ง ซึ่งที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป คือเป็นองค์กรที่อยู่ของคนหลากหลาย พวกเคร่งและไม่เคร่ง พวกถือมัซฮับและพวกไม่ถือมัซฮับ พวกทั้งที่สนใจวิชาการศาสนาแบบเนื้อๆและพวกที่สนใจการพัฒนาสังคม อะไรทำนองนี้ ผมคิดว่าสมาคมแห่งนี้คล้ายคลึงกับชมรมนักศึกษามุสลิมต่างๆ ที่คนหลากหลายสามารถเข้าร่วมงานได้ เพราะไม่ได้วางเงื่อนไขอะไรมากมาย คงเป็นแค่มุสลิมที่มีสำนึกอยากช่วยเหลือสังคมก็เข้ามาร่วมงานได้ด้วยแล้ว
             ทันทีที่ผมมารับงานสมาคมนี้ คงจะด้วยเคราที่ยาวของผมทำให้เกิดประเด็นเรื่องสมาคมกำลังเปลี่ยนเป็น “สมาคมคนเคร่ง”... และต่อมาหลายๆครั้งผมถูกตั้งคำถามจากคนทำงานในองค์กรที่รู้สึกว่าตนเองเป็น “คนไม่เคร่ง” ว่า ผมมองพวกเขาอย่างไร? ดูแล้วหลายคนที่มองว่าตัวเองไม่เคร่งต่างคิดไปเอง ก็เลยทำตัวเหมือนประชากรชั้นสองในองค์กร... และเช่นเดียวกันฝ่าย “คนเคร่ง” ก็คาดหวังต่างๆนานาให้ผมเปลี่ยนสมาคมให้กลายเป็น “สมาคมคนเคร่ง” ... ให้เข้มงวดเรื่องชายหญิง ให้จัดการเรื่องหิญาบ และเรื่องต่างๆอีกมากมาย 
แต่ผมคงสร้างความอึดอัดให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะผมกลับนั่งวางแผนงานโครงสร้างต่างๆ มากกว่ามาลุยเรื่องเคร่งไม่เคร่ง แต่ระยะหลังคำถามมันมากขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อมและทางประชด จากทั้งสองฝ่าย ช่วงหลังผมจึงต้องไปตอบคำถามในงานของฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อความคลุมเครือว่าสมาคมจะเป็นสมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง...อย่างไรกันแน่
            ผมเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ผมมีวิสัยทัศน์อย่างไรกับสมาคม ผมมองว่าสมาคมแบบนี้เหมือนมัสญิดหลังใหญ่ในใจกลางเมือง ซึ่งมีคนหลายๆมัซฮับเข้ามาสังกัดเป็นสัปบุรุษ ด้วยเหตุนี้เราจีงไม่สามารถประกาศให้มัซฮับใดเป็นทางการตายตัวได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ในกรอบนิติศาสตร์ที่มีฐานวิชาการที่ถูกต้อง
            ประการต่อมา ผมมองการเคลื่อนไหวของสมาคมแบบนี้เป็น “ศ็อฟฟฺ” หรือแถวละหมาด ซึ่งไม่ได้มีศ็อฟฟฺเดียว นั่นหมายความว่า ญะมาอะฮฺพยายามจะโอบอุ้มทั้งคนเข้มแข้งและอ่อนแอให้ละหมาดร่วมกันให้ได้ เป็นการยอมรับว่ามันมีหลายแถว ทั้งแถวที่เข้มแข้งพรึบพรับ และแถวที่อ่อนแอโรยแรง หรืออาจมีพวก “มัสบูก” มาไม่ทันตักบีร และอาจรวมทั้งพวกมาละหมาดบ้างไม่ละหมาดบ้าง แต่ก็ยังยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของญะมาอะฮฺ
            ประเด็นสำคัญในการบริหารญะมาอะฮฺแบบนี้ก็คือ ทำยังไงให้คนได้ละหมาดทุกคน และทำอย่างไรให้มาละหมาดญะมาอะฮฺกันเยอะๆ และทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้าเข้มแข้งที่สุด เพื่อดึงศ็อฟฟฺหลังๆ เข้ามา... มิใช่พอตัวเองอยู่ศ็อฟฟฺหน้าและถือดี ตวาดพวกศ็อฟฟฺหลัง แล้วก็ทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้ามีคุณภาพพอที่จะมาแทนอีหม่ามได้ หากเกิดปัญหาในการนำละหมาด
            ผมใช้แนวคิดเรื่อง “ศ็อฟฟฺ” ในการบริหารงานองค์กร รวมทั้งแนวคิดที่ได้จากการละหมาดญะมาอะฮฺหลายเรื่อง อาทิเช่น วิธีการตักเตือนกันในช่วงละหมาดว่าแบบไหนที่ถูกต้องและแบบไหนที่ผิดวิธี ศ็อฟฟฺหน้ามีหน้าที่อย่างไร อีหม่ามก็ต้องรู้วิธีการนำละหมาดที่ถูกต้อง วิธีการจัดการให้การละหมาดของแต่ละคนไม่ได้แค่ท่าทางแต่ต้องมีจิตวิญญาณด้วย เป็นต้น
            เวลาผมอธิบายการบริหารงานแบบนี้ จะเข้าใจง่าย เพราะว่าชีวิตประจำวันของเราก็วนเวียนอยู่กับศ็อฟฟฺละหมาดนี่แหละ...
ในการอยู่ร่วมกันในองค์กร ประเด็นที่หนักมากก็คือ คนที่อยู่ศ็อฟฟฺแรกต้องเข้มแข้ง และร่วมกันจัดทำโปรแกรมเพื่อให้คนได้ละหมาดร่วมกันให้มากที่สุด ให้พร้อมเพรียงกันมากที่สุด ให้ลดจำนวนพวกที่ไม่มาละหมาด ลดจำนวนพวกมัสบูก อีกทั้งทำอย่างไรให้ละหมาดถูกต้องตามเจตนารมณ์ของศาสนา มากกว่าที่จะมานั่งคิดว่า ไม่อยากให้คนนั้นร่วมละหมาดคนนี้มาร่วมละหมาด เพราะว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ตราบใดที่คนนั้นยังไม่ทำชิริก หรือไม่ทำอุตริกรรมแบบร้ายแรง เขายังมีสิทธิอยู่ศ็อฟฟฺต่อไป
             คนที่อยู่ในศ็อฟฟฺแรกจะต้องร่วมกันสร้างระบอบให้คนเป็นคนดี ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทางความคิด แต่ใช้ระบอบคิดของอิสลามเป็นทางแก้ปัญหา ผมถึงย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดขององค์กรคือ การมีกระบวนการสองชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ที่คนศ็อฟฟฺหน้าจะต้องช่วยกันสร้าง หนึ่งก็คือกระบวนการสร้างความเข้าใจในศาสนา นั่นหมายถึงต้องจัดโปรแกรมเรียนรู้ต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง กระบวนการที่สองคือ กระบวนการสร้างตักวา คือการพัฒนาโปรแกรมทางจิตวิญญาณให้สำนึกผูกพันกับอัลลอฮฺ... ตราบใดที่ปราศจากเบ้าหลอมที่เข้มแข็งนี้ในองค์กรเป็นหลัก แล้วยังใช้วิธีตัดสินใครผิดใครถูกอย่างเดียว ผมว่าไม่นานศ็อฟฟฺละหมาดจะไม่มีคนเหลือ
            นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องศ็อฟฟฺละหมาดยังสอนเราอีกว่า ยังไงโลกนี้ก็ไม่ได้มีมัสญิดเดียว มันมีศ็อฟฟฺใหญ่ศ็อฟฟฺเล็กที่กระจายอยู่ที่มัสญิดอื่นๆ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องไปยืนอยู่ในศ็อฟฟฺของมัสญิดอื่น หรืออาจต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งต้องเข้าร่วมกับศ็อฟฟฺใหม่ในมัสญิดของของที่ใหม่ก็เป็นได้ และแน่นอนว่าศ็อฟฟฺแต่ละที่นั้นก็ย่อมมีความเข้มแข้งและอ่อนแอไม่เหมือนกัน... ประเด็นสำคัญคือเราทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺแต่ละมัสญิดมันแน่นและมีคุณภาพมากกว่าการวิจารณ์อย่างเดียวว่ามีแต่คนแก่ละหมาด
ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า ประเด็นจึงไม่ใช่ให้สมาคมมีแต่คนยืนแถวหน้าซึ่งเป็นคนเคร่งที่สุด หรือเปิดช่องให้ต่อต้านคนเคร่งเพราะคิดไปเองว่า ภาพลักษณ์เครียด กลัวคนจะไม่เข้ามัสญิด หากแต่ต้องยอมรับธรรมชาติของศ็อฟฟฺว่ามีหลากหลาย สิ่งสำคัญคือต้องรักษาระเบียบของศ็อฟฟฺ ไม่ควรมีใครทำลายแบบแผนของศ็อฟฟฺ ...
            คนที่อยู่ในแถวหน้าเองก็ต้องรู้ว่า หน้าที่ของแถวหน้าไม่ใช่แค่ยืนแถวหน้าอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เปรียบดังคนที่คิดว่าตนเองเคร่ง เอาศาสนาแค่เรื่องการแต่งกายและการไม่ปะปนชายหญิงแค่นั้น แต่ลืมไปว่า การยืนหยัดในศาสนายังครอบคลุมเรื่องนินทาว่าร้าย การมีใจบุญเอื้อเฟื้อกับคนอื่นๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกที่อยู่ศ็อฟฟฺหลังหรือมัสบูกประจำก็ต้องรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ต้องหาทางพัฒนามาให้ทันอีหม่าม มิหนำซ้ำบางคนมาสายประจำ แต่หมั่นไส้พวกศ็อฟฟฺหน้าหาว่า “วาเราะ” ซะอีก
ผมตอบปิดท้ายว่า สมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง ไม่ได้เป็นประเด็นในการบริหารเท่ากับผมต้องจัดศ็อฟฟฺให้ถูกต้อง และทุกคนต้องปฏิบัติตามศ็อฟฟฺและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยระบบศ็อฟฟฺ... คนที่ไม่ปฏิบัติตามนี้ต่างหากที่มีปัญหา และต้องถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามระดับที่ละเมิด จะเคร่งไม่เคร่งไม่เคร่งก็เหมือนๆกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้