สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

เลขาฯ อาเซียนชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวรับโลกาภิวัฒน์

Keynote address on "Community Empowerment through Education" by Honorable Dr. Surin Pitsuwan at The 1st AMRON International Conference Entitled "Islamic Education in ASEAN Countries: Change from within through Education" on October2, 2010, at Thaiburi hall, Walailak University.

ภาพเคลื่่อนไหว: ThamTV-ทีวีที่เด็กได้ทำ
เนื้อหาข่าว: สำนักข่าวอามาน

ดร.สุรินทร์ชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เตือนอีก 5 ปีตั้งประชาคมอาเซียนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนเกือบครึ่งของภูมิภาคต้องมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ หากล้มเหลวต้องโทษตนเอง อัดกลุ่มทุนอาหรับมุ่งแต่ใช้เงินสร้างวัตถุจนลืมพัฒนาคน
วันนี้ที่(2 ตุลาคม 2553) ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานการประชุมนานาชาติ AMRON ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ ASEAN Muslim Research Organization Network (AMRON) หรือเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียนร่วมกันจัดขึ้น โดยนายสุรินทร์ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาสร้างพลังชุมชน” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาการปรับตัวของสังคมมุสลิมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งใจความตอนหนึ่ง เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า
สังคมมุสลิมอาเซียนในอดีตไม่ค่อยมีปัญหา เพราะไม่มีความขัดแย้งตึงเครียดใดๆ พอมีความรู้ใหม่ ความเจริญและเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นสังคมมุสลิมอาเซียนก็ไม่มีความราบรื่นอีกต่อไป
นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า ดูเหมือนความเจริญและความใหม่เหล่านั้นจะก้าวข้าม(Bypass) สังคมมุสลิมไป เพราะสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ตัวไม่ได้ พอปรับไม่ได้จึงนำไปสู่ความตึงเครียดขัดแย้งต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา อาเจะห์ บอเนียว หมู่เกาะโมลุกู และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันปอเนาะดั้งเดิมในภาคใต้ของประเทศไทยยังใช้กีต๊าบกูนิง (เป็นกีต๊าบเก่าอักษรยาวีที่เขียนขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว  –กองบรรณาธิการ) เรียนกันอยู่ทั่วไป ไม่มีการปรับเนื้อหาให้พัฒนาทันโลกปัจจุบัน และไม่มีการเพิ่มวิชาอื่นเข้าไป ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาไม่มีการปรับตัวและยกระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้พัฒนาก้าวหน้า โดยนายสุรินทร์ยกตัวอย่างตนเองที่เป็นอดีตเด็กปอเนาะ ก้าวขึ้นมาเป็นโต๊ะครู นักการเมือง และปัจจุบันกลายเป็นเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเกิดจากการปรับตัวตลอดเวลา
นายสุรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัยในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันกล่าวอีกว่าโครงการ AMRON มีบทบาทในการทำงานวิจัยเพื่อให้สังคมมุสลิมในภูมิภาคก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิซาซากาว่า จากประเทศญี่ปุ่น(sasakawa peace foundation) เพื่อให้สังคมมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน เมื่อถามว่าทำไมไม่ใช่ทุนอาหรับหรือโลกมุสลิมซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ก็เพราะทุนเหล่านี้สนใจแต่การสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาคนหรือให้งบประมาณสนับสนุนทางด้านการศึกษา สร้างเยาวชน สร้างโรงเรียน
“การมองเพียงมิติของวัตถุจะไม่มีวันรู้ปัญหาที่ลึกลงไปข้างในได้” เลขาธิการอาเซียนกล่าวในตอนหนึ่ง และเขายังยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทับซ้อนกันหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งยาเสพติด การศึกษา และการมองไม่เห็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นการก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก
ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวถึงประเด็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2015 หรืออีก 5ปีข้างหน้าว่า จะมีบทบาทในการสร้างกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นชุมชน(community) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไม่มีกำแพงขวางกั้นคนหนุ่มสาวใน 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนทั้งในการศึกษาและการทำงาน
“แล้วอนาคตของมุสลิมที่มีจำนวน 40-50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในอาเซียนจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีประสิทธิภาพ โดยมุมมองของผมคนมุสลิมที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วมกับประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ผมเตือนแล้วว่าให้สังคมมุสลิมปรับตัว ซึ่งถ้ามันล้มเหลวเราก็ต้องโทษตนเอง” นายสุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้