สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูลจัดพัฒนาคนทำงานที่เกาะลิดี สตูล


สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล จัดกิจกรรมพัฒนาคนทำงานที่เกาะลิดี
        โดยได้เชิญยมท.ทุกสาขา/คนหนุ่มสาวและคนทำงานอิสลามเพื่อสังคมเดินทางนอนพักค้างคืนที่เกาะลิดีวันที่ 21-22 มกราคม 2555  เพื่อเติมพลังแห่งการทำงานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยการนำของนายสมพร  เหมรา ประธานยมท.สาขาสตูล ในงานนี้มีกิจกรรมที่สำคัญ    ภาคกลางวันเป็นการทดสอบสมรรถภาพคนทำงาน/เที่ยวชมสถานที่สำคัญบนเกาะลิดี ภาคกลางคืนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความรู้จักกับพี่น้องยมท.สาขาต่างๆทั่วประเทศและการเสวนาในหัวข้อคนหนุ่มสาวกับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย โดยวิทยากร นายอัลอัค(นายอับดุลมาหยีด อุปมา) นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย  นายแพทย์อนันตชัย  ไทยประทาน  จากโรงพยาบาลยะลา/ชูรอยมท.  ดร.ชุกรี  หลังปูเต๊ะ จากวิทยาลัยอิสลามยะลา 
กิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 60  คนกิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังจากนี้มีการหารือเพื่อจัดกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
ข่าวโดย ยมท.สตูล

อิสลามในยุโรป

อิสลามกับการสร้างประชาคมอาเซียน

วิสัยทัศน์และจุดยืนของนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ย.ม.ท.)คนปัจจุบัน

สมาคมคนเคร่ง

โดย อัล อัค


           ถ้าจะสังเกต ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียกร้องให้คนเคร่งศาสนา เหตุผลหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าคำว่า “เคร่ง” เป็นคำไทยๆ ที่ไม่เหมาะที่จะอธิบายการยืนหยัดมั่นคงในศาสนา(อิสติกอมะฮฺ) เพราะคำว่าเคร่งจะถูกมองไปที่การกระทำตัวให้อยู่ในระเบียบวินัยจัด ผมคิดว่าการเอาศาสนาในแนวคิดอิสลามไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่หมายถึงการสำนึกยำเกรงต่ออัลลอฮฺ คำที่ใช้สำหรับคนที่ดำรงอยู่ในศาสนาคือ คำว่ามุตตะกีน คือคนยำเกรงอัลลอฮฺหรือมีความตักวา หรือคำว่ามุหฺสินีน คือคนมีคุณธรรมสมบูรญ์แบบ ซึ่งหมายถึงมีอิหฺสานที่ถูกอธิบายโดยท่านนบีว่า “กระทำอิบาดะฮฺ(การเคารพสักการะและยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ)เสมือนหนึ่งเห็นอัลลอฮฺ...”
ถ้าจะสังเกตต่อไป เวลาเกิดกรณีโต้แย้งกันเรื่องระหว่างคนเคร่งไม่เคร่งที่เกี่ยวพันกับการทำงานดะอฺวะฮฺและการปฏิบัติตัวในสังคม เช่น“องค์กรเคร่งมาก จนคนเคร่งอยู่ไม่ได้” หรือ“เคร่งกับมุสลิมีน ไม่คุยด้วย แต่กับกาฟิรเรียนหนังสือด้วยกัน” ฯลฯ แม้จะผมฟังประเด็นแบบนี้มากเป็นสิบปี แต่ผมจะไม่ร่วมวงโต้แย้งทั้งสองฝ่าย
            เหตุผลของเรื่องนี้อันดับแรกคือ เป็นเรื่องที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ผมมีปัญหากับคำว่าเคร่งที่คนไทยใช้ๆกันอยู่... ถ้ามันถูกอธิบายใหม่ด้วยคำว่าตักวาหรือศัพท์อิสลามตัวอื่นๆ การอ่านปัญหาเรื่องนี้จะง่ายขึ้น... นอกจากนี้ผมคิดว่าประเด็นเรื่องนี้มีรายละเอียดการปฏิบัติหลายเรื่องมาเกี่ยวพัน ซึ่งแต่ละฝ่ายยังไม่แม่นยำพอในเรื่องกรอบนิติศาสตร์อิสลาม เช่น ในเรื่องการปกปิดเอารัต ในเรื่องการพูดคุยระหว่างชายหญิง การใช้ม่าน เป็นต้น ก็เลยทำให้โต้แย้งกันไม่รู้จบ
สำหรับผมแล้วประเด็นที่สำคัญมากในการมองปัญหาเรื่องนี้คือการเข้าใจศาสตร์ในการดะอฺวะฮฺ และการรู้จักสภาพความแตกต่างของสังคม... ธรรมชาติของกลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางกลุ่มหรือองค์กรจะมีแต่คนที่เป็นแบบเดียวกัน โดยวางเงื่อนไขอย่างชัดเจน เช่น บางกลุ่มรับเฉพาะผู้หญิงที่คลุมหิญาบอย่างถูกต้องแล้ว หรือบางกลุ่มรับเฉพาะผู้ชายทั้งหมด... นี่เป็นทรรศนะหนึ่งในการจัดตั้งกลุ่มทำงานจำนวนมากในทุกวันนี้ ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องคนเคร่งคนไม่เคร่ง แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าทรรศนะแบบอื่นในการตั้งกลุ่มจะผิด หากไม่ได้ทำตามแบบแผนนี้
              เมื่อไม่นานผมได้เข้าไปรับผิดชอบงาน “สมาคม” หนึ่ง ซึ่งที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป คือเป็นองค์กรที่อยู่ของคนหลากหลาย พวกเคร่งและไม่เคร่ง พวกถือมัซฮับและพวกไม่ถือมัซฮับ พวกทั้งที่สนใจวิชาการศาสนาแบบเนื้อๆและพวกที่สนใจการพัฒนาสังคม อะไรทำนองนี้ ผมคิดว่าสมาคมแห่งนี้คล้ายคลึงกับชมรมนักศึกษามุสลิมต่างๆ ที่คนหลากหลายสามารถเข้าร่วมงานได้ เพราะไม่ได้วางเงื่อนไขอะไรมากมาย คงเป็นแค่มุสลิมที่มีสำนึกอยากช่วยเหลือสังคมก็เข้ามาร่วมงานได้ด้วยแล้ว
             ทันทีที่ผมมารับงานสมาคมนี้ คงจะด้วยเคราที่ยาวของผมทำให้เกิดประเด็นเรื่องสมาคมกำลังเปลี่ยนเป็น “สมาคมคนเคร่ง”... และต่อมาหลายๆครั้งผมถูกตั้งคำถามจากคนทำงานในองค์กรที่รู้สึกว่าตนเองเป็น “คนไม่เคร่ง” ว่า ผมมองพวกเขาอย่างไร? ดูแล้วหลายคนที่มองว่าตัวเองไม่เคร่งต่างคิดไปเอง ก็เลยทำตัวเหมือนประชากรชั้นสองในองค์กร... และเช่นเดียวกันฝ่าย “คนเคร่ง” ก็คาดหวังต่างๆนานาให้ผมเปลี่ยนสมาคมให้กลายเป็น “สมาคมคนเคร่ง” ... ให้เข้มงวดเรื่องชายหญิง ให้จัดการเรื่องหิญาบ และเรื่องต่างๆอีกมากมาย 
แต่ผมคงสร้างความอึดอัดให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะผมกลับนั่งวางแผนงานโครงสร้างต่างๆ มากกว่ามาลุยเรื่องเคร่งไม่เคร่ง แต่ระยะหลังคำถามมันมากขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อมและทางประชด จากทั้งสองฝ่าย ช่วงหลังผมจึงต้องไปตอบคำถามในงานของฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อความคลุมเครือว่าสมาคมจะเป็นสมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง...อย่างไรกันแน่
            ผมเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ผมมีวิสัยทัศน์อย่างไรกับสมาคม ผมมองว่าสมาคมแบบนี้เหมือนมัสญิดหลังใหญ่ในใจกลางเมือง ซึ่งมีคนหลายๆมัซฮับเข้ามาสังกัดเป็นสัปบุรุษ ด้วยเหตุนี้เราจีงไม่สามารถประกาศให้มัซฮับใดเป็นทางการตายตัวได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ในกรอบนิติศาสตร์ที่มีฐานวิชาการที่ถูกต้อง
            ประการต่อมา ผมมองการเคลื่อนไหวของสมาคมแบบนี้เป็น “ศ็อฟฟฺ” หรือแถวละหมาด ซึ่งไม่ได้มีศ็อฟฟฺเดียว นั่นหมายความว่า ญะมาอะฮฺพยายามจะโอบอุ้มทั้งคนเข้มแข้งและอ่อนแอให้ละหมาดร่วมกันให้ได้ เป็นการยอมรับว่ามันมีหลายแถว ทั้งแถวที่เข้มแข้งพรึบพรับ และแถวที่อ่อนแอโรยแรง หรืออาจมีพวก “มัสบูก” มาไม่ทันตักบีร และอาจรวมทั้งพวกมาละหมาดบ้างไม่ละหมาดบ้าง แต่ก็ยังยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของญะมาอะฮฺ
            ประเด็นสำคัญในการบริหารญะมาอะฮฺแบบนี้ก็คือ ทำยังไงให้คนได้ละหมาดทุกคน และทำอย่างไรให้มาละหมาดญะมาอะฮฺกันเยอะๆ และทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้าเข้มแข้งที่สุด เพื่อดึงศ็อฟฟฺหลังๆ เข้ามา... มิใช่พอตัวเองอยู่ศ็อฟฟฺหน้าและถือดี ตวาดพวกศ็อฟฟฺหลัง แล้วก็ทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้ามีคุณภาพพอที่จะมาแทนอีหม่ามได้ หากเกิดปัญหาในการนำละหมาด
            ผมใช้แนวคิดเรื่อง “ศ็อฟฟฺ” ในการบริหารงานองค์กร รวมทั้งแนวคิดที่ได้จากการละหมาดญะมาอะฮฺหลายเรื่อง อาทิเช่น วิธีการตักเตือนกันในช่วงละหมาดว่าแบบไหนที่ถูกต้องและแบบไหนที่ผิดวิธี ศ็อฟฟฺหน้ามีหน้าที่อย่างไร อีหม่ามก็ต้องรู้วิธีการนำละหมาดที่ถูกต้อง วิธีการจัดการให้การละหมาดของแต่ละคนไม่ได้แค่ท่าทางแต่ต้องมีจิตวิญญาณด้วย เป็นต้น
            เวลาผมอธิบายการบริหารงานแบบนี้ จะเข้าใจง่าย เพราะว่าชีวิตประจำวันของเราก็วนเวียนอยู่กับศ็อฟฟฺละหมาดนี่แหละ...
ในการอยู่ร่วมกันในองค์กร ประเด็นที่หนักมากก็คือ คนที่อยู่ศ็อฟฟฺแรกต้องเข้มแข้ง และร่วมกันจัดทำโปรแกรมเพื่อให้คนได้ละหมาดร่วมกันให้มากที่สุด ให้พร้อมเพรียงกันมากที่สุด ให้ลดจำนวนพวกที่ไม่มาละหมาด ลดจำนวนพวกมัสบูก อีกทั้งทำอย่างไรให้ละหมาดถูกต้องตามเจตนารมณ์ของศาสนา มากกว่าที่จะมานั่งคิดว่า ไม่อยากให้คนนั้นร่วมละหมาดคนนี้มาร่วมละหมาด เพราะว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ตราบใดที่คนนั้นยังไม่ทำชิริก หรือไม่ทำอุตริกรรมแบบร้ายแรง เขายังมีสิทธิอยู่ศ็อฟฟฺต่อไป
             คนที่อยู่ในศ็อฟฟฺแรกจะต้องร่วมกันสร้างระบอบให้คนเป็นคนดี ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทางความคิด แต่ใช้ระบอบคิดของอิสลามเป็นทางแก้ปัญหา ผมถึงย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดขององค์กรคือ การมีกระบวนการสองชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ที่คนศ็อฟฟฺหน้าจะต้องช่วยกันสร้าง หนึ่งก็คือกระบวนการสร้างความเข้าใจในศาสนา นั่นหมายถึงต้องจัดโปรแกรมเรียนรู้ต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง กระบวนการที่สองคือ กระบวนการสร้างตักวา คือการพัฒนาโปรแกรมทางจิตวิญญาณให้สำนึกผูกพันกับอัลลอฮฺ... ตราบใดที่ปราศจากเบ้าหลอมที่เข้มแข็งนี้ในองค์กรเป็นหลัก แล้วยังใช้วิธีตัดสินใครผิดใครถูกอย่างเดียว ผมว่าไม่นานศ็อฟฟฺละหมาดจะไม่มีคนเหลือ
            นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องศ็อฟฟฺละหมาดยังสอนเราอีกว่า ยังไงโลกนี้ก็ไม่ได้มีมัสญิดเดียว มันมีศ็อฟฟฺใหญ่ศ็อฟฟฺเล็กที่กระจายอยู่ที่มัสญิดอื่นๆ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องไปยืนอยู่ในศ็อฟฟฺของมัสญิดอื่น หรืออาจต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งต้องเข้าร่วมกับศ็อฟฟฺใหม่ในมัสญิดของของที่ใหม่ก็เป็นได้ และแน่นอนว่าศ็อฟฟฺแต่ละที่นั้นก็ย่อมมีความเข้มแข้งและอ่อนแอไม่เหมือนกัน... ประเด็นสำคัญคือเราทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺแต่ละมัสญิดมันแน่นและมีคุณภาพมากกว่าการวิจารณ์อย่างเดียวว่ามีแต่คนแก่ละหมาด
ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า ประเด็นจึงไม่ใช่ให้สมาคมมีแต่คนยืนแถวหน้าซึ่งเป็นคนเคร่งที่สุด หรือเปิดช่องให้ต่อต้านคนเคร่งเพราะคิดไปเองว่า ภาพลักษณ์เครียด กลัวคนจะไม่เข้ามัสญิด หากแต่ต้องยอมรับธรรมชาติของศ็อฟฟฺว่ามีหลากหลาย สิ่งสำคัญคือต้องรักษาระเบียบของศ็อฟฟฺ ไม่ควรมีใครทำลายแบบแผนของศ็อฟฟฺ ...
            คนที่อยู่ในแถวหน้าเองก็ต้องรู้ว่า หน้าที่ของแถวหน้าไม่ใช่แค่ยืนแถวหน้าอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เปรียบดังคนที่คิดว่าตนเองเคร่ง เอาศาสนาแค่เรื่องการแต่งกายและการไม่ปะปนชายหญิงแค่นั้น แต่ลืมไปว่า การยืนหยัดในศาสนายังครอบคลุมเรื่องนินทาว่าร้าย การมีใจบุญเอื้อเฟื้อกับคนอื่นๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกที่อยู่ศ็อฟฟฺหลังหรือมัสบูกประจำก็ต้องรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ต้องหาทางพัฒนามาให้ทันอีหม่าม มิหนำซ้ำบางคนมาสายประจำ แต่หมั่นไส้พวกศ็อฟฟฺหน้าหาว่า “วาเราะ” ซะอีก
ผมตอบปิดท้ายว่า สมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง ไม่ได้เป็นประเด็นในการบริหารเท่ากับผมต้องจัดศ็อฟฟฺให้ถูกต้อง และทุกคนต้องปฏิบัติตามศ็อฟฟฺและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยระบบศ็อฟฟฺ... คนที่ไม่ปฏิบัติตามนี้ต่างหากที่มีปัญหา และต้องถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามระดับที่ละเมิด จะเคร่งไม่เคร่งไม่เคร่งก็เหมือนๆกัน

เลขาฯ อาเซียนชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวรับโลกาภิวัฒน์

Keynote address on "Community Empowerment through Education" by Honorable Dr. Surin Pitsuwan at The 1st AMRON International Conference Entitled "Islamic Education in ASEAN Countries: Change from within through Education" on October2, 2010, at Thaiburi hall, Walailak University.

ภาพเคลื่่อนไหว: ThamTV-ทีวีที่เด็กได้ทำ
เนื้อหาข่าว: สำนักข่าวอามาน

ดร.สุรินทร์ชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เตือนอีก 5 ปีตั้งประชาคมอาเซียนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนเกือบครึ่งของภูมิภาคต้องมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ หากล้มเหลวต้องโทษตนเอง อัดกลุ่มทุนอาหรับมุ่งแต่ใช้เงินสร้างวัตถุจนลืมพัฒนาคน
วันนี้ที่(2 ตุลาคม 2553) ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานการประชุมนานาชาติ AMRON ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ ASEAN Muslim Research Organization Network (AMRON) หรือเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียนร่วมกันจัดขึ้น โดยนายสุรินทร์ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาสร้างพลังชุมชน” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาการปรับตัวของสังคมมุสลิมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งใจความตอนหนึ่ง เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า
สังคมมุสลิมอาเซียนในอดีตไม่ค่อยมีปัญหา เพราะไม่มีความขัดแย้งตึงเครียดใดๆ พอมีความรู้ใหม่ ความเจริญและเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นสังคมมุสลิมอาเซียนก็ไม่มีความราบรื่นอีกต่อไป
นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า ดูเหมือนความเจริญและความใหม่เหล่านั้นจะก้าวข้าม(Bypass) สังคมมุสลิมไป เพราะสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ตัวไม่ได้ พอปรับไม่ได้จึงนำไปสู่ความตึงเครียดขัดแย้งต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา อาเจะห์ บอเนียว หมู่เกาะโมลุกู และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันปอเนาะดั้งเดิมในภาคใต้ของประเทศไทยยังใช้กีต๊าบกูนิง (เป็นกีต๊าบเก่าอักษรยาวีที่เขียนขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว  –กองบรรณาธิการ) เรียนกันอยู่ทั่วไป ไม่มีการปรับเนื้อหาให้พัฒนาทันโลกปัจจุบัน และไม่มีการเพิ่มวิชาอื่นเข้าไป ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาไม่มีการปรับตัวและยกระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้พัฒนาก้าวหน้า โดยนายสุรินทร์ยกตัวอย่างตนเองที่เป็นอดีตเด็กปอเนาะ ก้าวขึ้นมาเป็นโต๊ะครู นักการเมือง และปัจจุบันกลายเป็นเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเกิดจากการปรับตัวตลอดเวลา
นายสุรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัยในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันกล่าวอีกว่าโครงการ AMRON มีบทบาทในการทำงานวิจัยเพื่อให้สังคมมุสลิมในภูมิภาคก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิซาซากาว่า จากประเทศญี่ปุ่น(sasakawa peace foundation) เพื่อให้สังคมมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน เมื่อถามว่าทำไมไม่ใช่ทุนอาหรับหรือโลกมุสลิมซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ก็เพราะทุนเหล่านี้สนใจแต่การสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาคนหรือให้งบประมาณสนับสนุนทางด้านการศึกษา สร้างเยาวชน สร้างโรงเรียน
“การมองเพียงมิติของวัตถุจะไม่มีวันรู้ปัญหาที่ลึกลงไปข้างในได้” เลขาธิการอาเซียนกล่าวในตอนหนึ่ง และเขายังยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทับซ้อนกันหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งยาเสพติด การศึกษา และการมองไม่เห็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นการก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก
ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวถึงประเด็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2015 หรืออีก 5ปีข้างหน้าว่า จะมีบทบาทในการสร้างกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นชุมชน(community) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไม่มีกำแพงขวางกั้นคนหนุ่มสาวใน 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนทั้งในการศึกษาและการทำงาน
“แล้วอนาคตของมุสลิมที่มีจำนวน 40-50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในอาเซียนจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีประสิทธิภาพ โดยมุมมองของผมคนมุสลิมที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วมกับประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ผมเตือนแล้วว่าให้สังคมมุสลิมปรับตัว ซึ่งถ้ามันล้มเหลวเราก็ต้องโทษตนเอง” นายสุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย.

รมว.ศธ คนใหม่มอบนโยบายการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ จากศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  ธาดาธำรงเวช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555  ณ  หอประชุมคุรุสภา  ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
           รมว.ศธ.  กล่าวว่า นโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.ต่อจากนี้ไปจะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลาน โดยจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน และจะจัดให้ดีกว่าในอดีต จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่โกงนักเรียน ไม่บังคับขู่เข็ญครูอาจารย์ ต้องไม่เกณฑ์ครูและนักเรียนไปต้อนรับผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น ต้องไม่ปล่อยให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ ขอฝากผู้บริหาร ศธ.ให้ช่วยลดกฎระเบียบและงานนอกเหนือจากการสอนของครู เพื่อขจัดการเรียกร้องเงินครูในการโยกย้ายตำแหน่ง รวมทั้งโครงการครูคืนถิ่น ขอให้มีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบคะแนนได้ และให้ลดการใช้ดุลยพินิจ
           รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงจุดเน้นนโยบายการพัฒนาการศึกษาอย่างเท่าเทียมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา ดังนี้
           •    จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทุกคน ซึ่งเยาวชนหมายถึง เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท จัดโดยรัฐหรือเอกชน การศึกษาในระดับโรงเรียนควรจะมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เด็กมีกรอบคิด มีวิธีคิดที่กว้างขวาง พร้อมที่จะเผชิญกับโลกสมัยใหม่ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๕ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ ๓๐๐ บาทต่อคนต่อวัน
          •    ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งนักศึกษาหมายถึง ผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หรือสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นไป เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย มีทักษะหลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ผู้จบปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
          •    เน้นขยายโอกาสทางการศึกษา ๔  ด้าน ดังนี้
               ๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม ได้แก่
                     - โครงการ One Tablet per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับรัฐบาลจีนในเรื่อง G2G เพื่อนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสัญญาณ Wi-Fi ได้ โดยจะหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเรื่องการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi และการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนในวัยนี้ รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนผู้ใช้ด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ก่อให้เกิดเสรีภาพทางความคิด และมีมุมมองที่กว้างขึ้น
                    - ห้องการเรียนรู้ โดยมีครูมาเปิดสอนพิเศษแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าจ้าง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น e-Book e-Learning เพื่อสร้าง Knowledge Base Society
                    - โครงการ e-Education เพื่อพัฒนาโปรแกรมและเนื้อหา ที่จะพลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
                    - โครงการโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในฝันสู่อุดมศึกษาชั้นยอด ให้มีคณะกรรมการโรงเรียน (School Board) ที่สามารถจัดจ้างครูใหญ่และครูที่มีความสามารถเป็นเลิศ จัดบริการขั้นพื้นฐาน มีรถรับ-ส่งนักเรียน จัดให้มีหอพักสำหรับนักเรียนที่บ้านอยู่ไกล
                    - โครงการพลังครู พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการอบรมคุณธรรม ทำบัญชีครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ นำหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ และเพิ่มรายได้พิเศษให้เพียงพอ และขยายโอกาสใหม่ๆ
                    - โครงการศูนย์การศึกษานานาชาติ
                    - โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพยาบาล เพื่อดูแลเด็กๆ ที่ป่วย และสามารถสอนหนังสือได้ด้วย
                    - โรงเรียนตัวอย่างในทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นเลิศ โดยใช้การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยาการที่ทันสมัย
              ๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
                    - Smart Card เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                    - โครงการเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้
                    - ทุนการศึกษาสานฝันนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ (๑ อำเภอ ๑ ทุน) โดยจะต้องปรับเกณฑ์เพื่อให้เกิดการกระจายทุนมากขึ้น
                    - กองทุนตั้งตัวได้ โดยจะตั้งกองทุนในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน มีคณะกรรมการคอยกำกับควบคุม ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ศิษย์เก่า ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัวแทนภาครัฐและเอกชน เพราะในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษามีนักศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมที่ทันสมัยมากมาย การเป็นนักธุรกิจที่มีฐานความรู้จึงมีความได้เปรียบกว่า สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากกว่า
              ๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
                   - จะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และเป็นมืออาชีพ
                   - ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มีเป้าหมายให้มีจำนวนเพียงพอต่อการบริการทุกชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทักษะของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในชุมชนได้อีกด้วย
                  - โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา
                  - โครงการ ๑ ดนตรี ๑ กีฬา ๒ ภาษา สนับสนุนให้เยาวชนได้มีความสามารถในการแข่งขันความเป็นเลิศ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษและจีนต้องอยู่ในบรรยากาศของเจ้าของภาษาให้มากที่สุด ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะต้องสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง
                  - ปรับปรุงหลักสูตร ยกเลิกการท่องจำ และใช้หลักการเรียนรู้แทน โดยใช้เนื้อหาวิชาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกัน เช่น Video Link รวมถึงการวัดผลที่มีมาตรฐานและทันสมัย
                 - คนไทยที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป สามารถเทียบประสบการณ์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ โดยการเรียนในเวลา หรือนอกเวลา เพื่อให้มีกรอบความคิดที่ก้าวหน้า ทันต่อโลก และทันต่อลูกหลาน
                 - สถาบันการศึกษาราชภัฏและอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถค้นหาตัวเองได้ว่า เก่งด้านใด ถนัดด้านไหน และจะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง มีความเป็นมืออาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนไปพัฒนาเพิ่มเติมทักษะด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ ตามความถนัด โดยเรียนก่อนผ่อนที่หลัง เมื่อมีงานทำจึงจะผ่อนใช้
                - จัดศูนย์ฝึกอบรมในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องที่สนใจ พัฒนาทักษะให้คนไทยเป็นผู้ชำนาญในสาขาต่างๆ ใช้ระบบเรียนก่อนผ่อนทีหลัง
          ๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
               - โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ต้องการทำ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวิชาชีพด้วย
               - สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กนักเรียน โดยมีคอมพิวเตอร์สัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ รวมทั้งมีครูมาสอนการบ้าน
         ทั้งนี้   รมว.ศธ.ได้ขอให้ร่วมกันทำงานด้านการศึกษา โดยคำนึงเสรีภาพ อิสรภาพ ภราดรภาพ และความยุติธรรม
 

ค้นหาบล็อกนี้