สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

งานประชุมใหญ่ประจำปี สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย 2012

งานประชุมใหญ่ประจำปี สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย 2012
รับฟังการเสวนาหัวข้อเรื่อง "อนาคตศาสตร์...ประชาชาติอิสลาม"
30-31 ธ.ค. 55 นี้
วันอาทิตย์ที่ 30 ธ.ค.2555 ณ โรงแรมไดอิชิ หาดใหญ่
ตอนบ่าย ฟุตซอล นัดพิเศษ (ในงานประชุมใหญ่ ยมท. 2012)

YMAT CUP 2012
พบกับ
- ทีมชูรอกลาง ยมท.  - ทีม ยมท. แต่ละสาขา  - ทีมคณะกรรมการกลาง ยมท.
และปิดท้ายด้วย ให้โอวาทโดย อาวุโส ยมท.
วันจันทร์ที่ 31 ธ.ค.2555 ณ มัสญิดกลาง จ.สงขลา
วันที่ 30 ธันวาคม 2555
เวลา 14.00 - 17.00 น.
ณ สนามหญ้าเทียม Hatyai Soccer Club  (หลังปั๊มเชลล์ มอ.หาดใหญ่) สำหรับทีมยมท.สตูลได้ไปกันครบเซ็ทได้เล่นกันทุกคน(ยกเว้นคนหัวเข่าไม่แข็งแรง)เลยกลายเป็นกองเชียร์
งานนี้ได้ทั้งความรู้ การแลกเปลี่ยนทัศนคติคนทำงาน เพิ่มเติมความรู้เติมเต็มอิบาดะฮ์คนทำงานตามทฤษฏีต้นไม้ของ ymat

วันพฤหัสบดีที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2555



30-31 ธค.นี้ พบปะคนหนุ่มสาวมุสลิมประจำปี   ในงานประชุมใหญ่ 2012 กับหัวข้อ ...... "คน หนุ่มสาวมุสลิม ... กับอนาคตศาสตร์" ... หาดใหญ่ อินชาอัลลอฮฺ. พี่น้องสตูลอย่าลืมพร้อมกันตามวันและเวลาตามกำหนดการ  ติดต่อประสานงาน     โทรประธานสาขาสตูล 0817981303

วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ยมท.สตูลศึกษาดูงานUniversiti Pendidikan Sultan Idis ( UPSI ), Malaysia












              
              เมื่อวันที่ 12-13 พ.ค.2555 ที่ผ่านมาทางยมท.ได้ร่วมเดินทางไปศึกษาดูงาน Universiti Pendidikan Sultan Idis ( UPSI ), Malaysia โดยการนำอ.อามีน หมันยามีน ที่ปรึกษาสนง.กกอ.จ.สตูล
นายอับดุลเลาะ ปังแลมาปุเลา นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดสตูลและคณะ นายอารีย์ ตาเอ็น นายกสมาคมครูอิสลามศึกษาสตูลและคณะ นายสมพร เหมรา ประธานสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล นายอัสนาวี มุคุระ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดกระบี่และคณะ การเดินทางครั้งนี้ทางคณะได้เข้าร่วมพูดคุยกับทางตัวแทนมหาวิทยาลัยนำโดยดร.อับดุลฮาลีม  อะลี อาจารย์คณะภาษาและการสื่อสาร (Fakulti   Bahasa  dan Komunikasi )   ในเรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อยังประเทศมาเลเซีย ในด้านครูและบุคลากรทางตัวแทนจะส่งมาเพื่อเรียนคอร์สภาษามลายูกลางที่มหาวิทยาลัยตลอดจนการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โทและเอกโดยทางมหาวิทยาลัยจะออกค่าใช้จ่ายให้ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน นอกจากนี้ยังได้พูดคุยในเรื่องของการศึกษาต่อของนักเรียน การเข้าแคมส์และการแลกเปลี่ยนเยาวชนระหว่างประเทศไทย-มาเลเซียซึ่งจะมีการทำข้อตกลงกันในอนาคตต่อไป  การไปศึกษาดูงานในครั้งประสบผลสำเร็จขอให้อัลลอฮ์ทรงตอบแทนความดีคณะผู้บริหารทุกท่านที่ทุ่มเทเสียสละทั้งเวลาและเงินทองเพื่อความก้าวหน้าทางการศึกษาของมุสลิมไทย

วันอังคารที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ประธานยมท.สตูลร่วมกิจกรรมสัมมนาองค์การบริหารองค์การนักศึกษามอ.ชุดใหม่




           
             เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2555   นายสมพร  เหมรา ประธาน ยมท.สตูลได้เข้าร่วมกิจกรรมการสัมมนาองค์การบริหารองค์การนักศึกษาต้นกล้าแห่งมอ.  อาสาพัฒนากิจกรรม ณ อุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตาการเดินทางไปร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ถือว่าได้พูดคุยกับน้องๆนักศึกษาถึงการบริหารงานในรั้วมหาลัย การกำหนดรูปแบบตลอดจนการทำกิจกรรมต่างๆที่ถือว่าคณะกรรมการชุดนี้ต้องรับภาระเป็นตัวแทนให้กับนักศึกษาเกือบหมื่นคนในมหาวิทยาลัย หวังว่าน้องๆทุกคนจะได้กลับไปได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ในการสัมมนาในครั้งในรั้วมหาวิทยาลัยต่อไป  ขอให้น้องๆมีความเข้มแข็งในการทำงานดังที่ท่านศาสดาได้กล่าวไว้ว่า มีรายงานจากท่านอบีฮุรอยเราะห์  แจ้งว่า ท่านรอซูล กล่าวว่า :
        ผู้ศรัทธา (มุอฺมิน) ที่เข้มแข็งนั้นดี และเป็นที่รักสำหรับอัลเลาะห์ยิ่งกว่ามุอฺมินที่อ่อนแอ และทั้งหมด(หมายถึงมุอฺมินที่เข้มแข็ง และมุอฺมินที่อ่อนแอ) ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนดีกันทั้งนั้น จงเอาใจใส่ต่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อท่าน และจงขอความช่วยเหลือต่ออัลเลาะห์ และท่านอย่าได้ท้อแท้ และหากว่ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาประสบกับท่าน แล้วท่านอย่าได้กล่าวว่า :
          ถ้าหากฉันทำเช่นนั้น เช่นนี้ ก็คงจะต้องได้เช่นนั้น เช่นนี้ แต่ให้ท่านกล่าวว่า : อัลเลาะห์ได้ทรงกำหนดเอาไว้แล้ว และสิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็จะทำสิ่งนั้น และแท้จริงคำว่า ถ้าหากนั้น เป็นการเปิดโอกาสให้ชัยฏอนแทรกแซงบงการ  (บันทึกโดยอิมามมุสลิม)  ทางยมท.สตูลและคณะทำงานร่วมเดินทางกับผู้ที่ทำงานเพื่ออัลอออฮ์เสมอ
การนอนของชัยตอน เรา...มุสลิมนอนแบบไหน เพราะการนอนถือได้ว่ามีโอกาสกลับไปสู่พระเมตตาของอัลลอฮ์

วันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โรฮิงยาส์ ประชาชนที่ถูกลืมในพม่า

เปลือยชีวิต ชาวโรฮิงญา กับชีวิตที่มากกว่าคำว่า..โหดร้าย (คมชัดลึก)


เปลือยชีวิต ชาวโรฮิงญา กับชีวิตที่มากกว่าคำว่า..โหดร้าย (คมชัดลึก)
          "อยู่ที่รัฐอาระกัน ก็เหมือนรอคอยความตาย สู้บากหน้ามาหาความหวังใหม่ดีกว่า"
          "โรฮิงญา" ชนกลุ่มน้อยในประเทศพม่า เชื้อชาติอาระกัน เอ่ยปากเล่าถึงชีวิตที่สุดแสนจะโหดร้ายของพวกเขา ในเขตพื้นที่จังหวัดหม่องดอ และจังหวัดสิดอ ในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า

          มามุต ฮุดเซ็น อายุ 50 ปี เล่าถึงครอบครัวของเขาที่จังหวัดหม่องดอ ทางตอนเหนือของประเทศพม่า ติดกับประเทศบังกลาเทศ ว่า มีเมีย 1 คน ลูกชาย 1 คน ผู้หญิง 3 คน มีอาชีพทำนา ซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวโรฮิงญาในย่านดังกล่าว "ลำบากมากๆ" มามุต บ่น เนื่องจากบางวันแทบจะไม่มีอะไรกินเลย เพราะความยากจน และยังถูกกลั่นแกล้งจากทหารพม่า ที่มักจะเข้ามาในหมู่บ้าน เก็บเกี่ยวผลผลิตของชาวบ้านไปหน้าตาเฉย ใครขัดขืนก็จะโดนเฆี่ยนด้วยหวาย หรือบางรายถึงขั้นโดนฆ่าทิ้งก็มีให้เห็นบ่อยๆ เมื่อใครไปขายของได้เงินแล้วหากทหารพม่ารู้ ก็จะเข้ามาถามก่อนที่จะแย่งเงินเหล่านั้นไปทันที

          "ไม่มีสภาพความเป็นคน หรือเป็นมนุษย์เลย พวกเราอยู่อย่างไร้อนาคต โดนกดดันจากทหารพม่าตลอดเวลา ไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหน โดยเฉพาะการเดินทางข้ามเขตที่ไม่สามารถทำได้เลย จะเดินทางไปมาได้ก็เฉพาะภายในจังหวัดที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เท่านั้น เพราะหากออกนอกพื้นที่ไม่เฉพาะทหารพม่าที่คอยจับจ้อง ชาวพม่าก็ไม่ชอบขี้หน้าพวกเรา และบ่อยครั้งที่พวกเราโดนทำร้ายร่างกายโดยชาวพม่า หรือโดนดูถูกเหยียดหยาม ถ่มน้ำลายใส่ก็มี"
          ฮามิด ดูซัน ชายหนุ่มอาระกัน วัย 19 ปี กล่าวว่า พวกเรายากจนมาก ซ้ำร้ายโดนกลั่นแกล้งตลอดเวลา ออกไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่ได้ เนื่องจากเป็นชนกลุ่มน้อย ทั้งยังเป็นชนกลุ่มที่รัฐบาลพม่ารังเกียจมากที่สุด ถึงขั้นไม่ยอมรับว่ามีพวกเราอยู่ในประเทศ พวกเราไม่มีสิทธิอะไรเลย ทั้งที่ดิน การศึกษา การรักษาพยาบาล

          "น้อยใจครับ ผมเกิดในจังหวัดหม่องดอ รัฐอาระกัน ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศพม่า แม้ว่าผมจะมีเชื้อสายบังกลาเทศ แต่การที่เกิดที่รัฐอาระกัน ก็มีความรักและความผูกพันต่อแผ่นดินเกิด แต่แผ่นดินที่ผมเกิดกลับไม่ต้อนรับผม ผมไม่เข้าใจครับ โดยเฉพาะการตั้งข้อรังเกียจต่อพวกเราของรัฐบาลทหารพม่า"

          ฮามิด เล่าอีกว่า ชาวโรฮิงญา แม้ว่าจะมีประวัติศาสตร์ที่ไม่ดีกับชาวพม่าสมัยรัฐบาลอังกฤษเป็นเจ้าอาณานิคมในย่านนี้ แต่หลังจากอังกฤษออกไปแล้ว พวกเราถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ไม่เคยต่อสู้ หรือเรียกร้องอะไรจากรัฐบาลทหารพม่าเลย นอกจากเรียกร้องขอ  “สิทธิความเป็นคน” ให้ทัดเทียมกับชาวพม่าทั่วไปแค่นั้นพวกเราก็พอใจแล้ว
          เชย ลี ฮัน ดา อายุ 25 ปี จากจังหวัดมุสิดอ กล่าวว่า ตอนที่โดนจับตัวอยู่ที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง และได้รับอาหารจากตำรวจไทย เชื่อไหมว่า เมื่อได้กินข้าวคำแรกน้ำตาไหลออกมาทันที และหลายคนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกัน คือ นอกจากจะซาบซึ้งในน้ำใจของคนไทยที่ต่างจากชาวพม่าที่โดนจับ และโดนทำร้ายที่เกาะแห่งหนึ่งในพม่า

          "พวกเราโดนควบคุมตัวไว้ถึง 5 วัน ไม่ได้กินอะไรเลย"
          ฮัน ดา เล่าขณะน้ำตาคลอเบ้าว่า อีกเหตุผลที่ทำให้น้ำตาร่วง คือ คิดถึงลูกเมียที่บ้าน บ่อยครั้งที่พวกเราอดข้าว ไม่มีอะไรจะกิน บางครั้งกินแค่วันละมื้อ จะกินครบ 3 มื้อเช่นคนทั่วไปก็น้อยเต็มที โดยเฉพาะหลายครั้งที่ต้องอด เนื่องจากต้องการให้ลูกเมียอิ่มก่อน ส่วนเราผู้ชายอดทนได้

          "ทุกคนรักบ้านเกิดครับ ไม่มีใครที่ต้องการดิ้นรน หรือดั้นด้นเดินทางออกจากบ้านเกิด มีแต่ทุกคนดิ้นรนเพื่อที่จะอาศัยอยู่ในบ้านเกิดหรือถิ่นฐานที่ตนถือกำเนิด แต่จากความโหดร้ายที่พวกเราได้รับ มันสุดที่จะบรรยายให้เห็นหรือให้รับรู้ได้ หากไม่เจอด้วยตนเองยากที่จะบรรยายจริงๆ ผมถามเพื่อนๆ ถึงความรู้สึกตอนนี้ ทราบว่าทุกคนห่วงเมีย ห่วงลูกที่อยู่ที่รัฐอาระกัน โดยเฉพาะอาจจะถูกทำร้ายอีกหลังจากที่ทหารพม่าทราบว่าพวกเราหายตัวไป"

          มามัด จอคิด อายุ 24 ปี จากจังหวัดมุสิดอ ซึ่งยังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลระนอง หลังจากโดนทหารพม่าทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะเรือที่เดินทางกำลังลอยลำบริเวณจังหวัดมะริด ประเทศพม่า "ทันทีที่ทุกคนเห็นทหารพม่า ซึ่งนั่งเรือรบมาทั้งหมด 4 ลำ ล้อมรอบพวกเรา กลัวมากครับ เพราะทุกคนรู้ถึงกิตติศัพท์ความโหดร้ายของทหารพม่าเป็นอย่างดี"
          บางคนตัวสั่นเทาไปหมด และแล้วในที่สุดพวกเราก็ได้รับการทำทารุณกรรมจริงๆ ตั้งแต่ทหารพม่าลงมาควบคุมตัว จะแตะ ต่อย ตบหน้า ถีบ จนกระทั่งนำตัวพวกเราไปยังเกาะแห่งหนึ่ง ทุกคนจึงถูกลงโทษโบยด้วยแส้จนได้รับบาดเจ็บ และใช้ผ้าพันชุบน้ำมันจุดไฟเผามาลน ตนเองโชคร้ายที่สุด เพราะเป็นแผลฉกรรจ์ที่ขา "เจ็บมากๆ ครับ แต่พวกเราทุกคนทนได้ เพราะความเจ็บปวดแค่นี้ เมื่อเทียบกับความโหดร้ายที่เราได้รับอยู่ทุกวันมันเทียบกันไม่ได้เลย"           มามัด จอคิด เล่าต่อว่า หลังจากพวกเรานอนทนทุกข์ทรมานอยู่ถึง 4 คืน 5 วัน ทหารพม่าจึงปล่อยลงเรือ และให้เดินทางต่อจนถูกทหารไทยจับตัว “ทุกคนดีใจ กราบพระอัลเลาะห์ทันทีที่เห็นทหารไทย เพราะทุกคนรู้ว่านั่นคือ รอดแล้วจากความรู้สึกในตอนนั้น” พวกเราไม่เคยคิดที่จะมาทำให้คนไทยยุ่งยาก เพียงแต่ไม่รู้ว่าจะไปไหน ทุกประเทศล้วนรังเกียจพวกเรา

          "แม้ผมจะถูกควบคุมตัวในเมืองไทย โดนจองจำในห้องขัง ในเรือนจำ หรือที่ไหนๆ พวกเราดีใจเพราะนั่นเป็นชีวิตที่สุขสบายที่สุดที่ได้พบเจอ ตอนนี้ผมนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลระนอง คุณรู้ไหมว่าความรู้สึกผมเหมือนอยู่โรงแรมชั้น 1 อยู่ห้องพักดีๆ ได้กินอาหารอิสลามที่อร่อยที่สุดในชีวิตของผม ทั้งๆ ที่ผมน่าจะเป็นทุกข์กับสภาพบาดแผลที่ผมได้รับ แต่ความรู้สึกเป็นสุขมันมีมากกว่าจริงๆ ครับ ผมอิจฉาคนไทยจริงๆ ที่ได้เกิดมาบนผืนดินแห่งนี้ ผืนแผ่นดินที่มีแต่ความสุข ไม่เป็นผืนแผ่นดินที่มีแต่ความทุกข์เช่นผืนแผ่นดินของพวกผม" มามัด จอคิด กล่าวในที่สุด


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย บุญเลื่อน พรหมประทานกุล

วันพฤหัสบดีที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2555

สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูลจัดพัฒนาคนทำงานที่เกาะลิดี สตูล


สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล จัดกิจกรรมพัฒนาคนทำงานที่เกาะลิดี
        โดยได้เชิญยมท.ทุกสาขา/คนหนุ่มสาวและคนทำงานอิสลามเพื่อสังคมเดินทางนอนพักค้างคืนที่เกาะลิดีวันที่ 21-22 มกราคม 2555  เพื่อเติมพลังแห่งการทำงานในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยการนำของนายสมพร  เหมรา ประธานยมท.สาขาสตูล ในงานนี้มีกิจกรรมที่สำคัญ    ภาคกลางวันเป็นการทดสอบสมรรถภาพคนทำงาน/เที่ยวชมสถานที่สำคัญบนเกาะลิดี ภาคกลางคืนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำความรู้จักกับพี่น้องยมท.สาขาต่างๆทั่วประเทศและการเสวนาในหัวข้อคนหนุ่มสาวกับการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย โดยวิทยากร นายอัลอัค(นายอับดุลมาหยีด อุปมา) นายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย  นายแพทย์อนันตชัย  ไทยประทาน  จากโรงพยาบาลยะลา/ชูรอยมท.  ดร.ชุกรี  หลังปูเต๊ะ จากวิทยาลัยอิสลามยะลา 
กิจกรรมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 60  คนกิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี หลังจากนี้มีการหารือเพื่อจัดกิจกรรมลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต
ข่าวโดย ยมท.สตูล

อิสลามในยุโรป

อิสลามกับการสร้างประชาคมอาเซียน

วิสัยทัศน์และจุดยืนของนายกสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ย.ม.ท.)คนปัจจุบัน

สมาคมคนเคร่ง

โดย อัล อัค


           ถ้าจะสังเกต ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียกร้องให้คนเคร่งศาสนา เหตุผลหนึ่งก็คือ ผมคิดว่าคำว่า “เคร่ง” เป็นคำไทยๆ ที่ไม่เหมาะที่จะอธิบายการยืนหยัดมั่นคงในศาสนา(อิสติกอมะฮฺ) เพราะคำว่าเคร่งจะถูกมองไปที่การกระทำตัวให้อยู่ในระเบียบวินัยจัด ผมคิดว่าการเอาศาสนาในแนวคิดอิสลามไม่ได้เป็นเช่นนี้ แต่หมายถึงการสำนึกยำเกรงต่ออัลลอฮฺ คำที่ใช้สำหรับคนที่ดำรงอยู่ในศาสนาคือ คำว่ามุตตะกีน คือคนยำเกรงอัลลอฮฺหรือมีความตักวา หรือคำว่ามุหฺสินีน คือคนมีคุณธรรมสมบูรญ์แบบ ซึ่งหมายถึงมีอิหฺสานที่ถูกอธิบายโดยท่านนบีว่า “กระทำอิบาดะฮฺ(การเคารพสักการะและยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ)เสมือนหนึ่งเห็นอัลลอฮฺ...”
ถ้าจะสังเกตต่อไป เวลาเกิดกรณีโต้แย้งกันเรื่องระหว่างคนเคร่งไม่เคร่งที่เกี่ยวพันกับการทำงานดะอฺวะฮฺและการปฏิบัติตัวในสังคม เช่น“องค์กรเคร่งมาก จนคนเคร่งอยู่ไม่ได้” หรือ“เคร่งกับมุสลิมีน ไม่คุยด้วย แต่กับกาฟิรเรียนหนังสือด้วยกัน” ฯลฯ แม้จะผมฟังประเด็นแบบนี้มากเป็นสิบปี แต่ผมจะไม่ร่วมวงโต้แย้งทั้งสองฝ่าย
            เหตุผลของเรื่องนี้อันดับแรกคือ เป็นเรื่องที่ผมกล่าวไว้ตอนต้นว่า ผมมีปัญหากับคำว่าเคร่งที่คนไทยใช้ๆกันอยู่... ถ้ามันถูกอธิบายใหม่ด้วยคำว่าตักวาหรือศัพท์อิสลามตัวอื่นๆ การอ่านปัญหาเรื่องนี้จะง่ายขึ้น... นอกจากนี้ผมคิดว่าประเด็นเรื่องนี้มีรายละเอียดการปฏิบัติหลายเรื่องมาเกี่ยวพัน ซึ่งแต่ละฝ่ายยังไม่แม่นยำพอในเรื่องกรอบนิติศาสตร์อิสลาม เช่น ในเรื่องการปกปิดเอารัต ในเรื่องการพูดคุยระหว่างชายหญิง การใช้ม่าน เป็นต้น ก็เลยทำให้โต้แย้งกันไม่รู้จบ
สำหรับผมแล้วประเด็นที่สำคัญมากในการมองปัญหาเรื่องนี้คือการเข้าใจศาสตร์ในการดะอฺวะฮฺ และการรู้จักสภาพความแตกต่างของสังคม... ธรรมชาติของกลุ่ม องค์กร ชมรม สมาคม แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน บางกลุ่มหรือองค์กรจะมีแต่คนที่เป็นแบบเดียวกัน โดยวางเงื่อนไขอย่างชัดเจน เช่น บางกลุ่มรับเฉพาะผู้หญิงที่คลุมหิญาบอย่างถูกต้องแล้ว หรือบางกลุ่มรับเฉพาะผู้ชายทั้งหมด... นี่เป็นทรรศนะหนึ่งในการจัดตั้งกลุ่มทำงานจำนวนมากในทุกวันนี้ ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่องคนเคร่งคนไม่เคร่ง แต่กระนั้นไม่ได้หมายความว่าทรรศนะแบบอื่นในการตั้งกลุ่มจะผิด หากไม่ได้ทำตามแบบแผนนี้
              เมื่อไม่นานผมได้เข้าไปรับผิดชอบงาน “สมาคม” หนึ่ง ซึ่งที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป คือเป็นองค์กรที่อยู่ของคนหลากหลาย พวกเคร่งและไม่เคร่ง พวกถือมัซฮับและพวกไม่ถือมัซฮับ พวกทั้งที่สนใจวิชาการศาสนาแบบเนื้อๆและพวกที่สนใจการพัฒนาสังคม อะไรทำนองนี้ ผมคิดว่าสมาคมแห่งนี้คล้ายคลึงกับชมรมนักศึกษามุสลิมต่างๆ ที่คนหลากหลายสามารถเข้าร่วมงานได้ เพราะไม่ได้วางเงื่อนไขอะไรมากมาย คงเป็นแค่มุสลิมที่มีสำนึกอยากช่วยเหลือสังคมก็เข้ามาร่วมงานได้ด้วยแล้ว
             ทันทีที่ผมมารับงานสมาคมนี้ คงจะด้วยเคราที่ยาวของผมทำให้เกิดประเด็นเรื่องสมาคมกำลังเปลี่ยนเป็น “สมาคมคนเคร่ง”... และต่อมาหลายๆครั้งผมถูกตั้งคำถามจากคนทำงานในองค์กรที่รู้สึกว่าตนเองเป็น “คนไม่เคร่ง” ว่า ผมมองพวกเขาอย่างไร? ดูแล้วหลายคนที่มองว่าตัวเองไม่เคร่งต่างคิดไปเอง ก็เลยทำตัวเหมือนประชากรชั้นสองในองค์กร... และเช่นเดียวกันฝ่าย “คนเคร่ง” ก็คาดหวังต่างๆนานาให้ผมเปลี่ยนสมาคมให้กลายเป็น “สมาคมคนเคร่ง” ... ให้เข้มงวดเรื่องชายหญิง ให้จัดการเรื่องหิญาบ และเรื่องต่างๆอีกมากมาย 
แต่ผมคงสร้างความอึดอัดให้กับทั้งสองฝ่าย เพราะผมกลับนั่งวางแผนงานโครงสร้างต่างๆ มากกว่ามาลุยเรื่องเคร่งไม่เคร่ง แต่ระยะหลังคำถามมันมากขึ้นทั้งทางตรงทางอ้อมและทางประชด จากทั้งสองฝ่าย ช่วงหลังผมจึงต้องไปตอบคำถามในงานของฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อความคลุมเครือว่าสมาคมจะเป็นสมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง...อย่างไรกันแน่
            ผมเริ่มต้นด้วยการบอกว่า ผมมีวิสัยทัศน์อย่างไรกับสมาคม ผมมองว่าสมาคมแบบนี้เหมือนมัสญิดหลังใหญ่ในใจกลางเมือง ซึ่งมีคนหลายๆมัซฮับเข้ามาสังกัดเป็นสัปบุรุษ ด้วยเหตุนี้เราจีงไม่สามารถประกาศให้มัซฮับใดเป็นทางการตายตัวได้ ขอแต่เพียงให้อยู่ในกรอบนิติศาสตร์ที่มีฐานวิชาการที่ถูกต้อง
            ประการต่อมา ผมมองการเคลื่อนไหวของสมาคมแบบนี้เป็น “ศ็อฟฟฺ” หรือแถวละหมาด ซึ่งไม่ได้มีศ็อฟฟฺเดียว นั่นหมายความว่า ญะมาอะฮฺพยายามจะโอบอุ้มทั้งคนเข้มแข้งและอ่อนแอให้ละหมาดร่วมกันให้ได้ เป็นการยอมรับว่ามันมีหลายแถว ทั้งแถวที่เข้มแข้งพรึบพรับ และแถวที่อ่อนแอโรยแรง หรืออาจมีพวก “มัสบูก” มาไม่ทันตักบีร และอาจรวมทั้งพวกมาละหมาดบ้างไม่ละหมาดบ้าง แต่ก็ยังยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของญะมาอะฮฺ
            ประเด็นสำคัญในการบริหารญะมาอะฮฺแบบนี้ก็คือ ทำยังไงให้คนได้ละหมาดทุกคน และทำอย่างไรให้มาละหมาดญะมาอะฮฺกันเยอะๆ และทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้าเข้มแข้งที่สุด เพื่อดึงศ็อฟฟฺหลังๆ เข้ามา... มิใช่พอตัวเองอยู่ศ็อฟฟฺหน้าและถือดี ตวาดพวกศ็อฟฟฺหลัง แล้วก็ทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺหน้ามีคุณภาพพอที่จะมาแทนอีหม่ามได้ หากเกิดปัญหาในการนำละหมาด
            ผมใช้แนวคิดเรื่อง “ศ็อฟฟฺ” ในการบริหารงานองค์กร รวมทั้งแนวคิดที่ได้จากการละหมาดญะมาอะฮฺหลายเรื่อง อาทิเช่น วิธีการตักเตือนกันในช่วงละหมาดว่าแบบไหนที่ถูกต้องและแบบไหนที่ผิดวิธี ศ็อฟฟฺหน้ามีหน้าที่อย่างไร อีหม่ามก็ต้องรู้วิธีการนำละหมาดที่ถูกต้อง วิธีการจัดการให้การละหมาดของแต่ละคนไม่ได้แค่ท่าทางแต่ต้องมีจิตวิญญาณด้วย เป็นต้น
            เวลาผมอธิบายการบริหารงานแบบนี้ จะเข้าใจง่าย เพราะว่าชีวิตประจำวันของเราก็วนเวียนอยู่กับศ็อฟฟฺละหมาดนี่แหละ...
ในการอยู่ร่วมกันในองค์กร ประเด็นที่หนักมากก็คือ คนที่อยู่ศ็อฟฟฺแรกต้องเข้มแข้ง และร่วมกันจัดทำโปรแกรมเพื่อให้คนได้ละหมาดร่วมกันให้มากที่สุด ให้พร้อมเพรียงกันมากที่สุด ให้ลดจำนวนพวกที่ไม่มาละหมาด ลดจำนวนพวกมัสบูก อีกทั้งทำอย่างไรให้ละหมาดถูกต้องตามเจตนารมณ์ของศาสนา มากกว่าที่จะมานั่งคิดว่า ไม่อยากให้คนนั้นร่วมละหมาดคนนี้มาร่วมละหมาด เพราะว่าไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้ ตราบใดที่คนนั้นยังไม่ทำชิริก หรือไม่ทำอุตริกรรมแบบร้ายแรง เขายังมีสิทธิอยู่ศ็อฟฟฺต่อไป
             คนที่อยู่ในศ็อฟฟฺแรกจะต้องร่วมกันสร้างระบอบให้คนเป็นคนดี ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางทางความคิด แต่ใช้ระบอบคิดของอิสลามเป็นทางแก้ปัญหา ผมถึงย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดขององค์กรคือ การมีกระบวนการสองชนิดที่แยกจากกันไม่ได้ที่คนศ็อฟฟฺหน้าจะต้องช่วยกันสร้าง หนึ่งก็คือกระบวนการสร้างความเข้าใจในศาสนา นั่นหมายถึงต้องจัดโปรแกรมเรียนรู้ต่างๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง กระบวนการที่สองคือ กระบวนการสร้างตักวา คือการพัฒนาโปรแกรมทางจิตวิญญาณให้สำนึกผูกพันกับอัลลอฮฺ... ตราบใดที่ปราศจากเบ้าหลอมที่เข้มแข็งนี้ในองค์กรเป็นหลัก แล้วยังใช้วิธีตัดสินใครผิดใครถูกอย่างเดียว ผมว่าไม่นานศ็อฟฟฺละหมาดจะไม่มีคนเหลือ
            นอกจากนี้ แนวคิดเรื่องศ็อฟฟฺละหมาดยังสอนเราอีกว่า ยังไงโลกนี้ก็ไม่ได้มีมัสญิดเดียว มันมีศ็อฟฟฺใหญ่ศ็อฟฟฺเล็กที่กระจายอยู่ที่มัสญิดอื่นๆ และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะต้องไปยืนอยู่ในศ็อฟฟฺของมัสญิดอื่น หรืออาจต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ ซึ่งต้องเข้าร่วมกับศ็อฟฟฺใหม่ในมัสญิดของของที่ใหม่ก็เป็นได้ และแน่นอนว่าศ็อฟฟฺแต่ละที่นั้นก็ย่อมมีความเข้มแข้งและอ่อนแอไม่เหมือนกัน... ประเด็นสำคัญคือเราทำอย่างไรให้ศ็อฟฟฺแต่ละมัสญิดมันแน่นและมีคุณภาพมากกว่าการวิจารณ์อย่างเดียวว่ามีแต่คนแก่ละหมาด
ดังนั้น ผมจึงสรุปว่า ประเด็นจึงไม่ใช่ให้สมาคมมีแต่คนยืนแถวหน้าซึ่งเป็นคนเคร่งที่สุด หรือเปิดช่องให้ต่อต้านคนเคร่งเพราะคิดไปเองว่า ภาพลักษณ์เครียด กลัวคนจะไม่เข้ามัสญิด หากแต่ต้องยอมรับธรรมชาติของศ็อฟฟฺว่ามีหลากหลาย สิ่งสำคัญคือต้องรักษาระเบียบของศ็อฟฟฺ ไม่ควรมีใครทำลายแบบแผนของศ็อฟฟฺ ...
            คนที่อยู่ในแถวหน้าเองก็ต้องรู้ว่า หน้าที่ของแถวหน้าไม่ใช่แค่ยืนแถวหน้าอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว เปรียบดังคนที่คิดว่าตนเองเคร่ง เอาศาสนาแค่เรื่องการแต่งกายและการไม่ปะปนชายหญิงแค่นั้น แต่ลืมไปว่า การยืนหยัดในศาสนายังครอบคลุมเรื่องนินทาว่าร้าย การมีใจบุญเอื้อเฟื้อกับคนอื่นๆ เป็นต้น ขณะเดียวกันพวกที่อยู่ศ็อฟฟฺหลังหรือมัสบูกประจำก็ต้องรู้ว่าตัวเองบกพร่อง ต้องหาทางพัฒนามาให้ทันอีหม่าม มิหนำซ้ำบางคนมาสายประจำ แต่หมั่นไส้พวกศ็อฟฟฺหน้าหาว่า “วาเราะ” ซะอีก
ผมตอบปิดท้ายว่า สมาคมคนเคร่งหรือไม่เคร่ง ไม่ได้เป็นประเด็นในการบริหารเท่ากับผมต้องจัดศ็อฟฟฺให้ถูกต้อง และทุกคนต้องปฏิบัติตามศ็อฟฟฺและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยระบบศ็อฟฟฺ... คนที่ไม่ปฏิบัติตามนี้ต่างหากที่มีปัญหา และต้องถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามระดับที่ละเมิด จะเคร่งไม่เคร่งไม่เคร่งก็เหมือนๆกัน

เลขาฯ อาเซียนชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวรับโลกาภิวัฒน์

Keynote address on "Community Empowerment through Education" by Honorable Dr. Surin Pitsuwan at The 1st AMRON International Conference Entitled "Islamic Education in ASEAN Countries: Change from within through Education" on October2, 2010, at Thaiburi hall, Walailak University.

ภาพเคลื่่อนไหว: ThamTV-ทีวีที่เด็กได้ทำ
เนื้อหาข่าว: สำนักข่าวอามาน

ดร.สุรินทร์ชี้สังคมมุสลิมต้องปรับตัวให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง เตือนอีก 5 ปีตั้งประชาคมอาเซียนประชากรมุสลิมที่มีจำนวนเกือบครึ่งของภูมิภาคต้องมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ หากล้มเหลวต้องโทษตนเอง อัดกลุ่มทุนอาหรับมุ่งแต่ใช้เงินสร้างวัตถุจนลืมพัฒนาคน
วันนี้ที่(2 ตุลาคม 2553) ที่หอประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เดินทางมาเป็นประธานเปิดงานการประชุมนานาชาติ AMRON ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “มุสลิมในประเทศอาเซียนกับการศึกษา: เปลี่ยนแปลงจากภายในผ่านการศึกษา” ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และ ASEAN Muslim Research Organization Network (AMRON) หรือเครือข่ายองค์กรวิจัยมุสลิมอาเซียนร่วมกันจัดขึ้น โดยนายสุรินทร์ได้แสดงปาฐกถาพิเศษ “การศึกษาสร้างพลังชุมชน” โดยเนื้อหาส่วนใหญ่สะท้อนถึงปัญหาการปรับตัวของสังคมมุสลิมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ ซึ่งใจความตอนหนึ่ง เลขาธิการอาเซียนกล่าวว่า
สังคมมุสลิมอาเซียนในอดีตไม่ค่อยมีปัญหา เพราะไม่มีความขัดแย้งตึงเครียดใดๆ พอมีความรู้ใหม่ ความเจริญและเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้นสังคมมุสลิมอาเซียนก็ไม่มีความราบรื่นอีกต่อไป
นายสุรินทร์กล่าวอีกว่า ดูเหมือนความเจริญและความใหม่เหล่านั้นจะก้าวข้าม(Bypass) สังคมมุสลิมไป เพราะสังคมมุสลิมส่วนใหญ่ตัวไม่ได้ พอปรับไม่ได้จึงนำไปสู่ความตึงเครียดขัดแย้งต่างๆ เช่น ปัญหาความขัดแย้งในมินดาเนา อาเจะห์ บอเนียว หมู่เกาะโมลุกู และจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันปอเนาะดั้งเดิมในภาคใต้ของประเทศไทยยังใช้กีต๊าบกูนิง (เป็นกีต๊าบเก่าอักษรยาวีที่เขียนขึ้นเมื่อร้อยปีที่แล้ว  –กองบรรณาธิการ) เรียนกันอยู่ทั่วไป ไม่มีการปรับเนื้อหาให้พัฒนาทันโลกปัจจุบัน และไม่มีการเพิ่มวิชาอื่นเข้าไป ทำให้เยาวชนส่วนหนึ่งที่เติบโตขึ้นมาไม่มีการปรับตัวและยกระดับความรู้ความสามารถของตนเองให้พัฒนาก้าวหน้า โดยนายสุรินทร์ยกตัวอย่างตนเองที่เป็นอดีตเด็กปอเนาะ ก้าวขึ้นมาเป็นโต๊ะครู นักการเมือง และปัจจุบันกลายเป็นเลขาธิการอาเซียน ซึ่งเกิดจากการปรับตัวตลอดเวลา
นายสุรินทร์ อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์หลายสมัยในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันกล่าวอีกว่าโครงการ AMRON มีบทบาทในการทำงานวิจัยเพื่อให้สังคมมุสลิมในภูมิภาคก้าวทันความเปลี่ยนแปลงซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิซาซากาว่า จากประเทศญี่ปุ่น(sasakawa peace foundation) เพื่อให้สังคมมุสลิมมีการเปลี่ยนแปลงในการรับมือกับกระแสโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน เมื่อถามว่าทำไมไม่ใช่ทุนอาหรับหรือโลกมุสลิมซึ่งมีเงินทุนมหาศาล ก็เพราะทุนเหล่านี้สนใจแต่การสร้างมัสยิด ซึ่งเป็นวัตถุเพียงอย่างเดียว ไม่สนใจการพัฒนาคนหรือให้งบประมาณสนับสนุนทางด้านการศึกษา สร้างเยาวชน สร้างโรงเรียน
“การมองเพียงมิติของวัตถุจะไม่มีวันรู้ปัญหาที่ลึกลงไปข้างในได้” เลขาธิการอาเซียนกล่าวในตอนหนึ่ง และเขายังยกตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ทับซ้อนกันหลายปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องกัน ทั้งยาเสพติด การศึกษา และการมองไม่เห็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ ล้วนเป็นการก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของโลกภายนอก
ทั้งนี้ เลขาธิการอาเซียนยังกล่าวถึงประเด็นการก่อตั้งประชาคมอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2015 หรืออีก 5ปีข้างหน้าว่า จะมีบทบาทในการสร้างกลุ่มประเทศอาเซียนให้เป็นชุมชน(community) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และไม่มีกำแพงขวางกั้นคนหนุ่มสาวใน 10 ประเทศของกลุ่มอาเซียนทั้งในการศึกษาและการทำงาน
“แล้วอนาคตของมุสลิมที่มีจำนวน 40-50 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดในอาเซียนจะอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีประสิทธิภาพ โดยมุมมองของผมคนมุสลิมที่มีจำนวนมหาศาลเหล่านี้ต้องมีส่วนร่วมกับประชาคมอาเซียนอย่างมีประสิทธิภาพ ในฐานะเลขาธิการอาเซียน ผมเตือนแล้วว่าให้สังคมมุสลิมปรับตัว ซึ่งถ้ามันล้มเหลวเราก็ต้องโทษตนเอง” นายสุรินทร์กล่าวทิ้งท้าย.

รมว.ศธ คนใหม่มอบนโยบายการศึกษา

กระทรวงศึกษาธิการ จากศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  ธาดาธำรงเวช  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  นายศักดา คงเพชร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2555  ณ  หอประชุมคุรุสภา  ในวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ
           รมว.ศธ.  กล่าวว่า นโยบายการศึกษาคือกุญแจสำคัญ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยขจัดความยากจน โดยนโยบายของ ศธ.ต่อจากนี้ไปจะยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ดูแลครูอาจารย์เสมือนคนในครอบครัว ดูแลนักเรียนเหมือนลูกหลาน โดยจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน และจะจัดให้ดีกว่าในอดีต จะต้องไม่มีการคอร์รัปชั่น ไม่โกงนักเรียน ไม่บังคับขู่เข็ญครูอาจารย์ ต้องไม่เกณฑ์ครูและนักเรียนไปต้อนรับผู้ใหญ่โดยไม่จำเป็น ต้องไม่ปล่อยให้ยาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนนักศึกษา นอกจากนี้ ขอฝากผู้บริหาร ศธ.ให้ช่วยลดกฎระเบียบและงานนอกเหนือจากการสอนของครู เพื่อขจัดการเรียกร้องเงินครูในการโยกย้ายตำแหน่ง รวมทั้งโครงการครูคืนถิ่น ขอให้มีกฎเกณฑ์ที่โปร่งใส เป็นธรรม สามารถตรวจสอบคะแนนได้ และให้ลดการใช้ดุลยพินิจ
           รมว.ศธ.ได้กล่าวถึงจุดเน้นนโยบายการพัฒนาการศึกษาอย่างเท่าเทียมและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการศึกษา ดังนี้
           •    จัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเยาวชนทุกคน ซึ่งเยาวชนหมายถึง เด็กตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกันทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือชนบท จัดโดยรัฐหรือเอกชน การศึกษาในระดับโรงเรียนควรจะมีความรู้ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้เด็กมีกรอบคิด มีวิธีคิดที่กว้างขวาง พร้อมที่จะเผชิญกับโลกสมัยใหม่ และเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๐๑๕ โดยเมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จะต้องเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ ๓๐๐ บาทต่อคนต่อวัน
          •    ปั้นนักศึกษาไทยให้เป็นมืออาชีพ ซึ่งนักศึกษาหมายถึง ผู้ที่เรียนในระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา หรือสูงกว่าระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ขึ้นไป เมื่อเรียนจบนักศึกษาจะต้องมีความเป็นมืออาชีพ เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่ทันสมัย มีทักษะหลากหลาย มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และอยู่ร่วมกันเป็นสังคมฐานความรู้ ซึ่งรัฐบาลจะประกันรายได้ผู้จบปริญญาตรี ๑๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน
          •    เน้นขยายโอกาสทางการศึกษา ๔  ด้าน ดังนี้
               ๑) โอกาสเข้าถึงทรัพยากร สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม เนื่องจากความเป็นเลิศมักจะกระจุกตัวอยู่ในเมือง แต่นักเรียนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในชนบท มีฐานะยากจน จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริม ได้แก่
                     - โครงการ One Tablet per Child โดยจะจัดหาคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับรัฐบาลจีนในเรื่อง G2G เพื่อนำหลักสูตรมาใส่ในคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสัญญาณ Wi-Fi ได้ โดยจะหารือกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเรื่องการปล่อยสัญญาณ Wi-Fi และการเข้าถึงเว็บไซต์ที่มีความเหมาะสมกับนักเรียนในวัยนี้ รวมทั้งจะต้องรับฟังความคิดเห็นของนักเรียนผู้ใช้ด้วย เพื่อเป็นการเปิดโอกาส ก่อให้เกิดเสรีภาพทางความคิด และมีมุมมองที่กว้างขึ้น
                    - ห้องการเรียนรู้ โดยมีครูมาเปิดสอนพิเศษแก่นักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งรัฐเป็นผู้สนับสนุนค่าจ้าง มีการติดตั้งซอฟต์แวร์การศึกษา ไม่ว่าจะเป็น e-Book e-Learning เพื่อสร้าง Knowledge Base Society
                    - โครงการ e-Education เพื่อพัฒนาโปรแกรมและเนื้อหา ที่จะพลิกโฉมโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการอย่างแท้จริง
                    - โครงการโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในฝันสู่อุดมศึกษาชั้นยอด ให้มีคณะกรรมการโรงเรียน (School Board) ที่สามารถจัดจ้างครูใหญ่และครูที่มีความสามารถเป็นเลิศ จัดบริการขั้นพื้นฐาน มีรถรับ-ส่งนักเรียน จัดให้มีหอพักสำหรับนักเรียนที่บ้านอยู่ไกล
                    - โครงการพลังครู พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา แก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส ด้วยการอบรมคุณธรรม ทำบัญชีครัวเรือน ปรับโครงสร้างหนี้ นำหนี้นอกระบบมาเป็นหนี้ในระบบ และเพิ่มรายได้พิเศษให้เพียงพอ และขยายโอกาสใหม่ๆ
                    - โครงการศูนย์การศึกษานานาชาติ
                    - โครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งพยาบาล เพื่อดูแลเด็กๆ ที่ป่วย และสามารถสอนหนังสือได้ด้วย
                    - โรงเรียนตัวอย่างในทุกอำเภอ เพื่อพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนให้เป็นเลิศ โดยใช้การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยาการที่ทันสมัย
              ๒) โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้คลายความกังวลในเรื่องทุนการศึกษา ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
                    - Smart Card เพื่อการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                    - โครงการเรียนก่อนผ่อนทีหลัง ส่งคืนเมื่อมีรายได้
                    - ทุนการศึกษาสานฝันนักเรียนไทยไปเรียนต่างประเทศ (๑ อำเภอ ๑ ทุน) โดยจะต้องปรับเกณฑ์เพื่อให้เกิดการกระจายทุนมากขึ้น
                    - กองทุนตั้งตัวได้ โดยจะตั้งกองทุนในมหาวิทยาลัยทั้งรัฐและเอกชน มีคณะกรรมการคอยกำกับควบคุม ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ ศิษย์เก่า ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ตัวแทนภาครัฐและเอกชน เพราะในมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษามีนักศึกษาที่มีองค์ความรู้ มีนวัตกรรมที่ทันสมัยมากมาย การเป็นนักธุรกิจที่มีฐานความรู้จึงมีความได้เปรียบกว่า สามารถสร้างผู้ประกอบการได้มากกว่า
              ๓) โอกาสในการเพิ่มพูนและฝึกฝนทักษะ นักเรียนทุกคนสามารถเติบโตได้ในโลกที่เป็นจริง การเรียนรู้บนการทำกิจกรรม (Activity-Based Learning) ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
                   - จะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง และเป็นมืออาชีพ
                   - ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มีเป้าหมายให้มีจำนวนเพียงพอต่อการบริการทุกชุมชน เพราะเป็นโครงการที่ใช้ประโยชน์จากทักษะของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา และสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนในชุมชนได้อีกด้วย
                  - โครงการอัจฉริยะสร้างได้ เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเองในทุกๆ สาขา
                  - โครงการ ๑ ดนตรี ๑ กีฬา ๒ ภาษา สนับสนุนให้เยาวชนได้มีความสามารถในการแข่งขันความเป็นเลิศ ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษและจีนต้องอยู่ในบรรยากาศของเจ้าของภาษาให้มากที่สุด ส่วนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์จะต้องสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง
                  - ปรับปรุงหลักสูตร ยกเลิกการท่องจำ และใช้หลักการเรียนรู้แทน โดยใช้เนื้อหาวิชาที่เด็กสามารถเรียนรู้ได้เหมือนกัน เช่น Video Link รวมถึงการวัดผลที่มีมาตรฐานและทันสมัย
                 - คนไทยที่มีอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป สามารถเทียบประสบการณ์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ ได้ โดยการเรียนในเวลา หรือนอกเวลา เพื่อให้มีกรอบความคิดที่ก้าวหน้า ทันต่อโลก และทันต่อลูกหลาน
                 - สถาบันการศึกษาราชภัฏและอาชีวศึกษา เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาสามารถค้นหาตัวเองได้ว่า เก่งด้านใด ถนัดด้านไหน และจะส่งเสริมอาชีวศึกษาให้มีความสำคัญมากขึ้น มีความรู้ทางปฏิบัติอย่างแท้จริง มีความเป็นมืออาชีพ เปิดโอกาสให้ประชาชนไปพัฒนาเพิ่มเติมทักษะด้านต่างๆ ตามที่ต้องการ ตามความถนัด โดยเรียนก่อนผ่อนที่หลัง เมื่อมีงานทำจึงจะผ่อนใช้
                - จัดศูนย์ฝึกอบรมในสถาบันอาชีวศึกษา เพื่อให้ประชาชนเข้าไปเรียนรู้เรื่องที่สนใจ พัฒนาทักษะให้คนไทยเป็นผู้ชำนาญในสาขาต่างๆ ใช้ระบบเรียนก่อนผ่อนทีหลัง
          ๔) โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต ส่งเสริมการศึกษานอกระบบ โดยใช้ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ ศูนย์วัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งรัฐบาลเตรียมจัดทำโครงการต่างๆ ดังนี้
               - โครงการ Internet ตำบล และ Internet หมู่บ้าน (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน) เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนค้นหาความถนัดของตนเอง เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อต่อยอดในสิ่งที่ต้องการทำ รวมทั้งผู้ที่ต้องการเปลี่ยนวิชาชีพด้วย
               - สถานที่รวมกลุ่มอย่างสร้างสรรค์แก่เด็กนักเรียน โดยมีคอมพิวเตอร์สัญญาณ Wi-Fi ให้ใช้ รวมทั้งมีครูมาสอนการบ้าน
         ทั้งนี้   รมว.ศธ.ได้ขอให้ร่วมกันทำงานด้านการศึกษา โดยคำนึงเสรีภาพ อิสรภาพ ภราดรภาพ และความยุติธรรม
 

ค้นหาบล็อกนี้