สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฏีวงกลม วิถีแห่งฆุรอบาอฺ

ทฤษฎีวงกลม
การขับเคลื่อนสูวิถีแห่งฆุรอบาอ์
-
อัล อัค เรียบเรียง
         
            วิถีแห่งฆุรอบาอ์นั้น เริ่มต้นด้วยการศึกษาทำความเข้าใจหลักการอิสลามว่าด้วยพระเจ้า ชีวิต มนุษย์ และจักรวาล ...  เพราะวิถีของฆุรอบาอ์นั้นเกี่ยวกับกับมนุษย์ทุกคนตั้งแต่คนแรกจนถึงคนสุดท้าย เกี่ยวข้องกับระบอบการสร้างของพระเจ้าทั้งหมด ไม่ว่าสวรรค์ นรก และโลกดุนยาแห่งนี้
นอกจากนี้ วิถีแห่งฆุรอบาอ์ยังเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ ความขัดแย้ง และการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ยังเกี่ยวข้องกับพลังแห่งสัจจะกับพลังแห่งความหลงผิดที่ต่อต้านระหว่างกันและกัน รวมไปถึงการสร้างความสมดุลให้แก่วิถีทางของมนุษย์อีกด้วย
 
การศึกษาเรื่อง “วิถีแห่งฆุรอบาอ์” นี้จึงเริ่มต้นด้วยการจัดทำทฤษฎี เพื่อนำความรู้จาก อัล-วะหฺยุ  มาสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ และศึกษาพลังต่าง ๆ เพื่อให้บุรุษที่ปรารถนาวิถีทางแห่งเกียรติยศนี้สามารถท่องไปสู่ระดับของการเป็นฆุรอบาอ์ที่แท้จริงได้ 
เราจะเริ่มต้นวิถีทางนี้ด้วยการกรอบความคิดและแบบของการเปลี่ยนแปลงผ่านแผนผังที่ถ่ายมาจากทฤษฎีที่เรียกว่า “ทฤษฎีวงกลม” โดยเริ่มจากการอ้างถึงอายะฮฺอัลกุรอานที่ว่า

   ثُمَّ أَوْرَثْنَا الْكِتَابَ الَّذِينَ اصْطَفَيْنَا مِنْ عِبَادِنَا فَمِنْهُمْ ظَالِمٌ لِنَفْسِهِ وَمِنْهُمْ مُقْتَصِدٌ وَمِنْهُمْ سَابِقٌ بِالْخَيْرَاتِ بِإِذْنِ اللَّهِ ذَلِكَ هُوَ الْفَضْلُ الْكَبِيرُ 
 และเราได้ให้คัมภีร์สืบทอดมาแก่บรรดาผู้ที่เราเลือกแล้วจากปวงบ่าวของเรา บางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้อธรรมแก่ตัวเอง
             และบางคนในหมู่พวกเป็นผู้อยู่ระดับกลาง
          และบางคนในหมู่พวกเขาเป็นผู้ที่ล่วงหน้าด้วยความดีทั้งหลายด้วยอนุมัติของอัลลอฮฺ นั่นคือความโปรดปรานอันใหญ่หลวง 
                          (อัล - กุรอาน 35: 32)  
            คำว่า “ผู้ที่อธรรมแก่ตัวเอง” เป็นระดับผู้ศรัทธาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ได้แก่บรรดาผู้ที่ละเมิดขอบเขตของอัลลอฮฺด้วยการกระทำบาปฝ่าฝืนต่างๆ และรวมไปถึงผู้ที่กระทำอุตริกรรมต่าง ๆ 
คำว่า “ผู้ที่อยู่ระดับกลาง” เป็นระดับผู้ศรัทธาที่ได้มาตรฐาน คือผู้ที่ยึดมั่นกับวิถีทางที่อยู่คนละด้านกับอุตริกรรมและบาปต่างๆ แต่ยังไม่มีความดีอื่น ๆ ที่เพิ่มมากไปกว่ามากนัก เช่นการทำงานเพื่ออิสลาม หรือการการฟื้นฟูอิสลาม เป็นต้น 
คำว่า “ผู้ที่ล่วงหน้าด้วยความดีทั้งหลาย” เป็นระดับผู้ศรัทธาชั้นแนวหน้า คือ ผู้ที่ง่วนอยู่กับความดี การทำงานเสียสละเพื่ออิสลาม การเข้าร่วมฟื้นฟูอิสลาม และการมุ่งแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮฺในสาขาต่าง ๆ อย่างมากมาย....
           อย่างไรก็ตาม พวกเขาทั้งหมดถูกจัดว่าเป็นมุสลิม ดังที่ท่านอิบนุ อับบาส กล่าวว่า “พวกเขา(ทั้งสามจำพวก)คือ อุมมะฮฺ(ประชาชาติ)ของมุฮัมมัด ...” (อ้างจาก อัด ดูร อัล มันษูร ของ อิหม่ามสุยูฏียฺ)
 
ทฤษฏีวงกลม

จากคำอธิบายดังกล่าว เราสามารถจัดความสัมพันธ์ของพวกเขาออกเป็น “วงกลม” ที่ซ้อนกัน  “3 วง” ซึ่งจะกำหนดให้พวกเขาเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
 ผู้ที่ผ่านเส้นวงกลมรอบนอกสุดเข้าไปทั้งหมด ถือว่าเป็น “วงกลมอิสลาม” หรือ "วงกลมเตาฮีด(การให้ความเป็นหนึ่งต่ออัลลอฮฺ)" ไม่ว่าจะเป็นผู้ศรัทธาระดับใด 
ผู้ที่ผ่านเส้นวงกลมถัดไป เป็นระดับผู้ศรัทธาที่ได้มาตรฐาน เรียกว่าวงกลมของ “กลุ่มรอดพ้น”(ฟิรเกาะฮฺ นาญียะฮฺ) 
ผู้ที่ผ่านเส้นวงกลมในสุด เป็นระดับผู้ศรัทธาชั้นแนวหน้า เรียกว่าวงกลมของ “กลุ่มแห่งชัยชนะ” (ฎออิฟะฮฺ มันศูเราะฮฺ)
 
ดังนั้น การแบ่งเช่นนี้เป็นการยอมรับความจริงว่า ผู้ศรัทธาต่อเตาฮีดนั้นมี 3 ระดับ ได้แก่
            ระดับที่ ๑. ผู้คนที่ผ่านขอบวงนอก แต่ไม่ผ่านขอบวงที่สอง
วงกลมนอกสุด  เรียกว่า “วงกลมแห่งอิสลาม” วงนี้รวมเอาผู้ใดก็ได้ที่ได้กล่าว “ชะฮาดะฮฺ” ทั้งสอง และยืนหยัดการละหมาด โดยที่เขาไม่กระทำสิ่งใด ๆ ที่เป็นเหตุให้สิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม แม้ว่าเขาจะกระทำบาปฝ่าฝืนต่าง ๆ และแม้ว่าเขาจะกระทำสิ่งที่เป็นอุตริกรรมก็ตาม  
ผู้คนที่อยู่ใน “วงกลม” วงนี้ คือชาวสวรรค์ แม้ว่าพวกเขาอาจอยู่ใน “ระดับผู้ศรัทธาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน” ซึ่งสมควรที่จะได้รับโทษ อันเนื่องจากบาปที่พวกเขาได้กระทำ หรือเนื่องจากอุตริกรรมที่พวกเขาได้กระทำลงไปก็ตาม แต่ในท้ายที่สุดเขาก็ได้รับสวรรค์ อันเนื่องจากเขายังคงมี “เตาฮีด” หรือการยึดมั่นศรัทธาในความเป็นหนึ่งของอัลลอฮฺ 
ดังนั้น คนที่มิได้ผ่านเส้นนอกสุด คือผู้ที่ตั้งภาคีกับอัลลอฮฺ เขาจะไม่มีที่ยืนอยู่ในวงกลม ไม่ว่าตรงจุดไหน และเขาจะไม่ได้เข้าสู่สวนสวรรค์ ดังพระดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า
  ... مَنْ يُشْرِكْ بِاللَّهِ فَقَدْ حَرَّمَ اللَّهُ عَلَيْهِ الْجَنَّةَ  ...  
          “แท้จริงผู้ใดตั้งภาคีแก่อัลลอฮฺ แน่นอนอัลลอฮฺจะทรงให้สวรรค์เป็นที่ต้องห้ามแก่เขา” (5: 72) 
              และท่านนบี ฯ ได้กล่าวว่า
                ...لَا يَدْخُلُ الْجَنَّةَ إِلَّا نَفْسٌ مُسْلِمَةٌ  ...
  “ ... จะเข้าสวรรค์มิได้ เว้นแต่ชีวิตที่ยอมจำนนต่ออัลลอฮฺ(นัฟซุน มุสลิมะตุน)เท่านั้น”(รายงานโดยมุสลิม)  
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ผ่านเส้นวงกลมรอบนอก แต่ไม่ผ่านเส้นวงกลมที่สอง ย่อมเป็นผู้ศรัทธาที่ต่ำกว่ามาตรฐาน

          
            ระดับที่  ๒. ผู้คนที่ผ่านเส้นวงกลมที่สอง  
วงกลมเส้นที่สองเป็นวงกลมที่เรียกว่าวงกลม “ฟิรเกาะฮ นาญียะฮฺ”(กลุ่มชนที่รอดพ้น) ซึ่งอยู่ภายใน “วงกลมอิสลาม”  อีกทีหนึ่ง  สำหรับวงกลมที่สองนี้เป็นวงกลมของผู้ที่พ้นจากสภาพการปฏิบัติตามสิ่งที่เป็นอุตริกรรม ปลอดจากสภาพที่ตกลงไปสู่อารมณ์ใคร่ต่าง ๆ พวกเขากระทำความดีที่ศาสนาสั่งใช้และออกห่างจากสิ่งที่ศาสนาสั่งห้าม ตามระดับมาตรฐานที่ศาสนาได้กำหนดไว้
 
หลักฐานวงกลมนี้อยู่ในส่วนของอายะฮฺที่ว่า
  يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ اتَّقُواْ اللّهَ حَقَّ تُقَاتِهِ وَلاَ تَمُوتُنَّ إِلاَّ وَأَنتُم مُّسْلِمُونَ
وَاعْتَصِمُواْ بِحَبْلِ اللّهِ جَمِيعاً وَلاَ تَفَرَّقُواْ … لَعَلَّكُمْ تَهْتَدُونَ
          3:102 โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงยำเกรงอัลลอฮฺอย่างแท้จริงเถิด และพวกเจ้าจงอย่าตาย เป็นอันขาดนอกจากในฐานะที่พวกเจ้าเป็นผู้ยอมจำนนโดยสิ้นเชิงเท่านั้น
           3:103-และพวกเจ้าจงยึดสายเชือกของอัลลอฮ์โดยพร้อมกันทั้งหมดและจงอย่าแตกแยกกัน ....  เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับแนวทางอันถูกต้อง  
หลักฐานจากฮะดีษที่กล่าวถึง “กลุ่มที่รอดพ้น”(จากไฟนรก) นี้มีหลายบท ตัวอย่างเช่น
    لَتَفْتَرِقَنَّ أُمَّتِي عَلَى ثَلاَثٍ وَسَبْعِينَ فِرْقَةً وَاحِدَةٌ فِي الْجَنَّةِ وَثِنْتَانِ وَسَبْعُونَ فِي النَّارِ
قِيلَ يَا رَسُولَ اللَّهِ مَنْ هُمْ قَالَ الْجَمَاعَةُ 
 “... แน่นอนประชาชาติของฉันจะแตกออกเป็น 73 กลุ่ม และกลุ่มเดียวที่อยู่ในสวรรค์ อีก 72 กลุ่มอยู่ในนรก มีผู้ถามว่า “โอ้ เราะสูลของอัลลอฮฺ พวกเขา(ที่ได้เข้าสรรค์นั้น)เป็นใคร?”  ท่านตอบว่า “อัล ญะมาอะฮฺ” ” (รายงานโดยอิบนุ มาญะฮฺ)       
                                      
ญามะอะฮฺ หมายถึง ผู้คนที่ยึดมั่นร่วมกันบนสัจธรรม ไม่แตกแยก หรือบางรายงานระบุว่า “แนวทางที่ฉันและสหายของฉันเป็นอยู่”
               ระดับที่ ๓. ผู้คนที่ผ่านเส้นวงกลมวงในสุด 
 วงกลมที่ 3 เป็นวงกลมที่แคบที่สุด คือวงกลมที่เรียกว่า “ฏออิฟะฮฺ มันศูเราะฮฺ”(กลุ่มแห่งชัยชนะ) ซึ่งอยู่ในวงกลม “ฟิรเกาะฮ นาญียะฮฺ”(กลุ่มชนที่รอดพ้น)อีกทีหนึ่ง พวกเขาคือ กลุ่มชนที่ต้องแบกภาระการปกป้องความศรัทธาอันหนักหน่วงไว้บนบ่า ต้องปกปักรักษาแก่นแท้ของคำสอนอิสลาม ต้องชูธงแห่งสัจธรรมขึ้น ... 
พวกเขาเหล่านี้คือ กลุ่มชนที่ดีเลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เป็นกลุ่มชนที่ต้องแบกภาระหนักที่สุด และมีสถานะสูงส่งที่สุด  
หลักฐานวงกลมนี้อยู่ในส่วนของอายะฮฺที่ต่อเนื่องจากอายะฮฺข้างต้น
  وَلْتَكُن مِّنكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ وَيَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَيَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكَرِ
وَأُوْلَـئِكَ هُمُ الْمُفْلِحُونَ
           3: 104-และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งกลุ่มหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบและชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ
             
             หลักฐานสำหรับกลุ่มนี้ปรากฏในฮะดีษหลายบทที่เรียกว่า ฮะดีษ ฏออีฟะฮฺ มันศูเราะฮฺ ดังตัวอย่าง
    لاَ تَزَالُ طَائِفَةٌ مِنْ أُمَّتِي  يُقَاتِلُونَ عَلَى الْحَقِّ ظَاهِرِينَ مَنْ ‏ ‏نَاوَأَهُمْ
حَتَّى يُقَاتِلُ آخِرُهُمُ الْمَسِيْحَ الدجَال   
“จะยังคงมีกลุ่มหนึ่งจากประชาชาติของฉัน ซึ่งได้ต่อสู้บนสัจธรรม มีชัยชนะอย่างกระจ่างชัดต่อผู้ที่ต่อต้านพวกเขา จนกระทั่งรุ่นหลังสุดของพวกเขาจะได้ต่อสู้กับอัล-ดัจญาล” (รายงายโดย อบูดาวูด)

ฆุรอบาอ์ - เหล่าชนผู้แปลกหน้า
 
ฏออีฟะฮฺ มันศูเราะฮฺ หรือกลุ่มในวงกลมที่สาม มีความโดดเด่นที่สุด ดังที่ชัยคุลอิสลาม อิบนุ ตัยมียะฮฺ ได้อธิบายหะดีษนี้ เชื่อมโยงเข้ากับหะดีษอีกชุดหนึ่งเรียกว่า หะดีษฆุรอบาอ์(เหล่าคนแปลกหน้าทั้งหลาย) ที่แสดงถึงความโดดเด่นเอาไว้ ดังต่อไปนี้
  بَدَأَ الْإِسْلَامُ غَرِيبًا وَسَيَعُودُ كَمَا بَدَأَ غَرِيبًا
فَطُوبَى ‏‏لِلْغُرَبَاءِ   
            “อิสลามเริ่มอย่างแปลกหน้า และมันจะกลับมา ดั่งที่มันเคยเริ่มมาอย่างแปลกหน้า ดังนั้น ความดีที่ไม่สิ้นสุด(หรือสวรรค์)เป็นของเหล่าคนแปลกหน้าทั้งหลาย(ฆุรอบาอ์)” (มุสลิม)  
หะดีษ ฆุเราะบาอ์ ที่รายงานผ่านสำนวนอื่น ๆ จึงปรากฏคำตอบที่ท่านนบีฯ  ได้อธิบายถึง “คนแปลกหน้าทั้งหลาย” เอาไว้ในคำตอบที่คล้ายคลึงกัน ดังตัวอย่างเช่น
   ‏بَدَأَ الْإِسْلَامُ غَرِيبًا ثُمَّ يَعُودُ غَرِيبًا كَمَا بَدَأَ ‏ ‏فَطُوبَى ‏‏لِلْغُرَبَاءِ
قِيلَ يَا رَسُولَ اللَّهِ وَمَنْ الْغُرَبَاءُ
قَالَ الَّذِينَ يُصْلِحُونَ إِذَا فَسَدَ النَّاسُ  
               “ ‘อิสลามเริ่มอย่างแปลกหน้า หลังจากนั้นมันจะกลับมาอย่างแปลกหน้า ดั่งที่มันเคยเริ่มมา ดังนั้น ความดีที่ไม่สิ้นสุด(ฏุบา)เป็นของเหล่าคนแปลกหน้าทั้งหลาย’  มีผู้ถามว่า ‘โอ้ เราะสูลของอัลลอฮฺ แล้วใครคือเหล่าคนแปลกหน้า’ ท่านตอบว่า ‘บรรดาผู้ที่ฟื้นฟูความดีงาม เมื่อผู้คนตกอยู่ในความเสื่อมเสีย ’ ” (รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด )

 ‏… ‏ ‏طُوبَى ‏ ‏لِلْغُرَبَاءِ فَقِيلَ مَنْ الْغُرَبَاءُ يَا رَسُولَ اللَّهِ
قَالَ أُنَاسٌ صَالِحُونَ فِي أُنَاسِ سُوءٍ كَثِيرٍ مَنْ ‏ ‏يَعْصِيهِمْ أَكْثَرُ مِمَّنْ يُطِيعُهُمْ  
           “‘… ความดีที่ไม่สิ้นสุด(ฏุบา)เป็นของเหล่าคนแปลกหน้าทั้งหลาย’  มีผู้ถามว่า ‘โอ้ เราะสูลของอัลลอฮฺ แล้วใครคือเหล่าคนแปลกหน้า’ ท่านตอบว่า ‘ผู้คนที่มีความดีงามท่ามกลางผู้คนที่ชั่วร้ายจำนวนมาก ซึ่งบุคคลที่ดื้อดึงต่อพวกเขามีมากกว่าผู้ที่เชื่อฟังพวกเขา’” (รายงานโดยอิหม่ามอะหฺมัด )  
               จากลักษณะของ “เหล่าคนแปลกหน้า” ในหะดีษชุดนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า การกลับมาอย่างแปลกหน้า นั่นหมายถึงการปรากฏตัวของพวกเขาท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยการหลงผิด แต่ก็ยังมีผู้คนที่ดำรงไว้บนสัจธรรม นั่นคือผู้ที่ถูกเรียกว่า ฆุเราะบาอฺ

               อิหม่ามอิบนุ กอยยิม อัล-เญาซียะฮฺได้กล่าวถึงเหตุของการที่พวกเขาถูกเรียกว่า “เหล่าคนแปลกหน้า” เอาไว้ว่า  “... พวกเขาเหล่านั้นคือเหล่าคนแปลกหน้าที่ได้รับการยกย่องและได้รับความเปี่ยมสุข และพวกเขามีจำนวนน้อยอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับผู้คนทั้งหลาย เหตุที่พวกขาถูกเรียกว่า เหล่าคนแปลกหน้า ก็เพราะผู้คนส่วนใหญ่หาได้มีคุณลักษณะเช่นนั้นไม่...” 
ดังนั้น ความแปลกหน้าของเหล่าผู้แปลกหน้าทั้งหลายจึงมิใช่ความแปลกประหลาด แต่เป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากผู้คนโดยทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความแตกต่างของวิถีทาง
              อิหม่ามอิบนุ กอยยิม อัล-เญาซียะฮฺ ได้อธิบายสรุปถึงลักษณะของ “เหล่าคนแปลกหน้า” ไว้ว่า 
            “ดังนั้น เขาคือคนแปลกหน้า เนื่องจากศาสนาของเขาที่มีต่อความเสื่อมทรามของศาสนาของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าเนื่องจากการยึดสุนนะฮฺของเขาที่มีต่อการยึดต่ออุตริกรรมของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าเนื่องจากหลักยึดมั่นของเขาที่มีต่อหลักยึดมั่นของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าเนื่องจากการละหมาดของเขาที่มีต่อการละหมาดที่ไม่ดีของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าเนื่องจากวิถีทางของเขาที่มีต่อทางที่หลงผิดและความเสื่อมของวิถีทางของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าเนื่องจากสายสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อความแตกต่างกับสายสัมพันธ์ของพวกเขา
            เป็นคนแปลกหน้าในการปฏิสัมพันธ์ของเขาที่มีต่อพวกเขา เนื่องจากเขาปฏิบัติต่อพวกเขาบนสิ่งที่ปราศจากอารมณ์ใฝ่ต่ำ
             กล่าวสรุปได้ว่า เขาคือคนแปลกหน้าในกิจการของโลกนี้และโลกหน้าเขาจะไม่พบจากคนทั่วไปซึ่งผู้ช่วยเหลือสนับสนุน
             เป็นผู้รู้ท่ามกลางบรรดาคนเขลา เป็นผู้ครอบครองสุนนะฮฺท่ามกลางผู้คนแห่งอุตริกรรม
             เป็นนักเชิญชวนไปสู่อัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ ท่ามกลางนักเชิญชวนไปสู่อารมณ์ใฝ่ต่ำและอุตริกรรม
            เป็นผู้สั่งใช้กันในความดีและห้ามปรามความชั่วท่ามกลางผู้คนแห่งความดี แต่ทว่ามีความชั่ว และมีความชั่วเป็นความดี”  (อ้างจากอัล-มะดาริจญ สาลิกีน)
  
ผู้นำและภารกิจของ ฆุรอบาอ์
 
นอกจากนี้ ยังปรากฏหะดีษนักฟื้นฟู เพื่ออธิบายฐานะของผู้นำของเหล่าชนแห่งฆุรอบาอ์ในทุกยุคทุกสมัยเอาไว้ด้วย
  إِنَّ اللَّهَ يَبْعَثُ لِهَذِهِ الْأُمَّةِ  عَلَى رَأْسِ كُلِّ مِائَةِ سَنَةٍ مَنْ يُجَدِّدُ لَهَا دِينَهَا  
              “แท้จริง อัลลอฮฺจะส่งให้แก่ประชาชาตินี้ ในทุก ๆ ต้นร้อยปี ผู้ซึ่งจะฟื้นฟูศาสนาของประชาชาตินี้แก่ประชาชาตินี้” (รายงานโดย อบูดาวุด)  
นักฟื้นฟูในที่นี่เป็นได้ทั้งเอกพจน์ พหูพจน์ ๆ จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปกำหนดเป็นบุคคลเพียงคนเดียว นี่เป็นคำอธิบายที่เชื่อถือได้ของปราชญ์อิสลาม (ดู A short history of revivalists in Islam ของเมาลานา เมาดูดียฺ)
            เช่นเดียวกัน การปรากฏตัวของนักฟื้นฟู “..ในทุก ๆ ต้นร้อยปี..” ควรได้รับการพิจารณาร่วมกับหะดีษที่มีน้ำหนักมากกว่า นั่นก็คือ หะดีษ ฏออิฟะฮฺ มันศูเราะฮฺ ที่มีใจความถึง “การมีอยู่อย่างต่อเนื่อง”  
 “..ในทุก ๆ ต้นร้อยปี..”  นั้น เชค ยูซุฟ อัล-เกาะเราะฏอวียฺ ได้อธิบายเชื่อมโยงระหว่างการฟื้นฟูกับศตวรรษได้อย่างสมเหตุสมผล โดยได้กล่าวว่า
 
“การที่หะดีษอ้างไปยังการเริ่มต้นของศตวรรษนั้น ก็เพราะว่าเป็น ‘การเริ่มต้นยุคใหม่’ เป็นการเริ่มต้นความหวังใหม่ การฟื้นคืนชีวิตใหม่ เพื่อให้ประชาชาติมุสลิมต้อนรับศตวรรษนั้น ๆ ด้วยหัวใจที่ถูกกระตุ้นด้วยความใฝ่ฝันว่าวันพรุ่งนี้ย่อมดีกว่า ด้วยการตัดสินใจที่ถูกกำหนดขึ้นในการทำงานในแบบอุดมคติ ด้วยเจตนาที่ซื่อสัตย์ในการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นจริงโดยสอดคล้องกับความจำเป็น  
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ให้คาดหวังว่าประชาชาติกำลังยืนอยู่ต้นศตวรรษด้วยตัวเอง ด้วยการตรวจสอบในสิ่งที่ตนทำไปและประเมินผลแห่งความสำเร็จของมันได้ด้วย ด้วยความพยายามจะเอาประโยชน์จากอดีตที่ผ่านมา ฟื้นสภาพในปัจจุบันให้ดีขึ้น และพัฒนาไปสู่อนาคต ‘เราขอวิงวอนต่อผู้เป็นเจ้าให้วันนี้ของอุมมะฮฺดีกว่าเมื่อวาน ให้พรุ่งนี้ดีกว่าวันนี้ด้วยเถิด’
  หะดีษ มุญัดดิดไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของเหล่ามุญัดดิดในช่วงกลางหรือช่วงท้ายของศตวรรษ ยิ่งกว่านั้น เป็นความจริงที่สังเกตเห็นได้ สำหรับผู้ที่อ่านประวัติศาสตร์ของอุมมะฮฺนี้ จะได้พบมุญัดดิดที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เป็นแบบอย่างของประชาชาติ คนอื่น ๆ อีก(ที่ไม่ได้เสียชีวิตในต้นศตวรรษ) เช่น อิบนฺ เญาซียฺ, อิบนฺ ตัยมียะฮฺ, อิบนฺ กอยยิม, อัล-ชาติบียฺ, อิบนฺ อัล-วะซีรฺ, อิบนฺ หะญัร, อัล-ดะฮฺละวียฺ, อัล- เชากานียฺ, และยังมีนักฟื้นฟูคนสำคัญคนอื่น ๆ อีกหลายคน” (อ้างจากสู่การฟื้นฟูอิสลาม)  
ดังนั้น  ช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูจึงสามารถเกิดขึ้นได้ทุกยุค แต่การเน้นคำว่า  “..ใน   ทุก ๆ ต้นร้อยปี..”  เพื่อย้ำให้ตระหนักและตื่นตัวในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นการชี้ให้เห็นถึงการขยายตัวของงานฟื้นฟูที่กว้างขวาง ไม่ใช่การระบุถึงเวลาของการปรากฏตัวหรือการตายจากไปของนักฟื้นฟู ด้วยเหตุนี้ นักฟื้นฟู(และงานฟื้นฟู)สามารถปรากฏอยู่ได้ตลอดศตวรรษ 
ความสำคัญของหะดีษ ตัจญดีด ช่วยให้รายละเอียดที่ชัดเจนให้แก่การเคลื่อนไหวของบรรดาฆุรอบาอ์ที่ “ต่อสู้บนสัจธรรม” นั่นคือ การเข้ามาทำงานฟื้นฟูอิสลาม ด้วยการฟื้นชีวิตอิสลามในหมู่คน
นี่คือภารกิจของ ฆุรอบาอ์ …  
..............................................................
หมายเหตุ
            ส่วนนี้เป็นการปูพื้นฐานโดยรวมของทฤษฎีวงกลม และความเข้าใจเบื้องต้นของการเป็น “ฆุรอบาอ์” ผู้เรียบเรียงจะอธิบายเพิ่มเติมในโอกาสต่อไปเกี่ยวกับการขับเคลื่อนผ่านวงกลมแต่ละวงเข้าไปสู่วงในสุดเพื่อเป็นฆุรอบาอ์ ซึ่งต้องมีเนื้อหาและรายละเอียดอีกพอสมควร ...
            นอกจากนี้ยังต้องมีคำอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับแรงต่าง ๆ ทั้งแรงดึงดูดเข้าสู่วงกลมและแรงดึงออกนอกวงกลมที่ซ่อนอยู่เต็มพื้นที่ทั้งหมดอย่างหนาแน่นและขัดแย้งกัน เรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการศึกษาจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องในการเคลื่อนย้ายจากวงกลมนอกเข้าไปสู่วงกลมด้านใน .... อินชาอัลลอฮฺ
            อย่างไรก็ตาม การศึกษาเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะมันเกี่ยวข้องในทุกมิติ ทั้งมิติอภิปรัชญา มิติของวิถีทาง และมิติทางประวัติศาสตร์ ไม่เพียงแค่นั้น มันยังมีทั้งส่วนที่เป็นอุดมการณ์และส่วนที่เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อีกทั้งมันยังเป็นแผนที่สำหรับนักทำงานอิสลามอีกด้วย ดังนั้น จำเป็นที่ผู้สนใจต้องได้รับการฝึกอบรมตั้งแต่ระดับพื้นฐาน อบรมพิเศษเฉพาะบางประเด็นที่อยู่ในทฤษฎีวงกลม และต้องผ่านการฝึกฝนการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้