สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย สาขาสตูล ขอต้อนรับ สู่เว็บไซต์ Ymatsatun.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2554

การทำงานเป็นทีมของคนในประเทศญี่ปุ่น

เขียนโดย dou -
การทำงานเป็นทีมของคนในประเทศญี่ปุ่น » ธรรมะอินเทรนด์ » การทำงานเป็นทีมของคนในประเทศญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นมีชื่อเสียงอันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในเรื่อง ของการทำงานเป็นทีมและความรักในหมู่คณะ พร้อมที่จะเสียสละเพื่อหมู่คณะได้ นับว่าเป็นเคล็ดลับที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จกลับมาสู่กลุ่ม องค์กร บริษัท และหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาประเทศญี่ปุ่นเองด้วย
แนวความคิดพื้นฐานสำคัญของการอยู่รวมกลุ่มกันของคนญี่ปุ่นตั้งแต่สมัยโบราณมีอยู่ว่า สมาชิกแต่ละคนจะกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยไม่ยึดถือความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ แต่จะกระทำโดยต้องดูทิศทางและความคิดเห็นของกลุ่มเป็นหลักสำคัญโดยการ ทุ่มเทอุทิศตัวทำงานเพื่อกลุ่มของตนเอง ซึ่ง ในทางกลับกัน กลุ่มตัวเองก็จะรับ ประกันความมั่นคงปลอดภัยของสมาชิก กล่าวอย่างง่ายๆ คือ สมาชิกกลุ่มจะร่วมกันวางกฎเกณฑ์ กติกาการทำงาน ความประพฤติปฏิบัติตนให้กับสมาชิก และคนที่ปฏิบัติตามก็จะได้รับหลักประกันความมั่นคง ในชีวิตเป็นการตอบแทน เช่น ระบบการจ้างงานตลอดชีพในบริษัทต่างๆ เป็นต้น
การทำงานโดยคำนึงถึงหมู่คณะเป็นหลักนี้หา ดูได้จากพนักงานของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นเกือบร้อยทั้งร้อยพนักงานเหล่านั้น ใช้วันเวลาพักร้อนของตัวเองไม่หมดและโดยส่วนใหญ่แล้วแทบไม่ยอมใช้สิทธิ์วันลา พักร้อนด้วยซ้ำไป เพราะเขาไม่ได้คิดแต่เพียงว่า นั่นคือสิทธิ์ของเขา เขาสามารถใช้สิทธิ์ในการ ลาพักร้อยอย่างได้อย่างเต็มที่ แต่พนักงานเหล่านั้นกลับคิดว่า ถ้าหากเขาลาหยุดพักร้อนก็เท่ากับว่า พนักงานคนอื่นๆ ที่เหลืออยู่จะต้องทำงานหนักขึ้น คือต้องทำงานในส่วนของเขาไปด้วย ในขณะที่พนักงานที่ลาหยุดพักร้อนได้ไปเที่ยวสบาย คิดอย่างนี้แล้วทำให้เกิดความไม่สบายใจ จึงเป็นสาเหตุ ทำให้พนักงานเหล่านั้น ไม่ยอมลาพักร้อน จนกระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ
หลายแห่งในประเทศญี่ปุ่นต้องออกจดหมายเวียน ประกาศขอความร่วมมือให้พนักงานทุกคนช่วยกันใช้สิทธิ์ลาพักร้อนด้วย มิฉะนั้นทางบริษัทจะต้องลำบาก เนื่องจากถูกกระทรวงแรงงานกระตุ้นเตือนมา พนักงานเหล่านั้นจึงยอมใช้สิทธิ์ลาพักร้อนดังกล่าว
ชาวญี่ปุ่นมีคติพจน์บทหนึ่งว่า จงตีตะปูทุกตัวที่โผล่ขึ้นมา
คือในหมู่คณะถ้ามีใครทำตัวแปลก ผิดไปจากหมู่ อวดเด่น อวดฉลาดแล้วละก็ ให้ช่วยกันทุบให้จมลงไปเพื่อ ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันให้ได้คนต่างชาติได้ยินเข้าแล้วก็ตกใจ บางท่านตั้งคำถามที่น่าคิดขึ้นมา ว่าถ้าทุกคนต้องทำอะไรเหมือนๆ กันหมด จะไม่เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์หรือ ?
คำตอบ คือ ไม่เพราะการทำตัวให้กลมกลืนเข้ากับคนอื่นได้ไม่ใช่หมายความว่า จะเสนอความคิดหรืออะไรใหม่ๆ ไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิ์คิดหรือเสนอสิ่งใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา แต่เมื่อทุกคนให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม
ผู้ที่มีความสามารถก็จะค่อยๆ เรียนรู้ถึงวิธีการ นำเสนออย่างอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่แสดงออกอาการประเภทอวดฉลาด หรือ แสดงอาการ ข่มทับผู้อื่น แต่ใช้วิธีนำเสนอความคิดเห็นเพื่อประโยชน์ ความก้าวหน้าของกลุ่มเหล่านั้นอย่างจริง
เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกหมั่นไส้ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะทุกคนพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นและให้ความร่วมมือ ให้การสนับสนุนความสมัครสมานสามัคคีและ ความก้าวหน้าจึงเกิดขึ้นมาได้ด้วยดี
ระบบควบคุมคุณภาพของญี่ปุ่น หรือที่เรียกว่า QC. Circleอันโด่งดัง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานของคนญี่ปุ่นแบบเป็นทีมได้เป็นอย่างดี
ในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะเด่นจะดังได้ก็ต้องมาจากการทำความดีและการสร้างผลงานซ้ำๆ จนทุกคนค่อยๆ ยอมรับ และยกย่องเชิดชูได้เท่านั้น คือต้องให้คนอื่น ๆ  ยอมรับและยกตัวเอง ขึ้นมาถึงจะได้รับการยอมรับ แต่ถ้าใครที่ยกตัวเองขึ้นมาเอง โดยไม่ได้รับการยอมรับก็จะถูกทุบลงไปแทบจะในทันทีทันใด ถ้าเปรียบคนกับลูกโป่ง ก็เหมือนกับ การที่เขาห้ามทำตัวพองลม เพราะถ้าเป่าลมเข้าไปให้ดูรู้สึกว่าตัวเองใหญ่ ดังนั้นเขาก็จะถูกคนอื่นบีบ ให้แฟบลงเหลือเท่าเนื้อลูกโป่งจริง ๆ เท่านั้น อยากจะทำให้ตัวเองใหญ่ต้องทำความดีมาก ๆ สะสมเนื้อลูกโป่งให้มาก ๆ ทำใหญ่ขึ้น ,โตขึ้น  เรื่อย ๆ อย่างหนักแน่น จะต้องไม่โตด้วยลม
ตัวอย่างความสำเร็จจากการทำงานเป็นทีมที่ดีมากเรื่องหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้ๆ ตัวพวกเราในเมืองไทยนี่เอง คือ ฟุตบอลทีมชาติไทยชุดบี ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่เรียกกันว่า ดรีมทีม ถือกันว่าเป็นทีมชาติชุดไม่มีดาราไม่มีใครที่ถือว่าเป็นนักฟุตบอลชุดใหญ่ หรือเป็นดาราดัง แต่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันฝึกซ้อมอย่างหนัก มีใจมุ่งมั่นเป็นหนึ่งเดียวกัน       มีความสามัคคีกลมเกลียวกัน จนสามารถเอาชนะทีมที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากต่างประเทศได้อย่างราบคาบ ครองแชมป์ชนะเลิศได้ท่ามกลางความชื่นชมของผู้คนทั้งหลายอย่างเป็นประวัติการณ์
ตะปูที่โผล่ขึ้นมาแม้เพียงตัวเดียวก็ทำให้หมู่คณะรวนได้มากเหมือนกัน
คนญี่ปุ่นเขาและชื่นชอบคนเก่ง แต่ถ้าให้เลือกระหว่างคนเก่งกับทีม เขาเลือกเอาทีมไว้ก่อน แต่ก็ไม่ใช่จะทิ้งคนเก่งไป เพียงแต่ต้องฝึกคนเก่งให้กลมกลืนเข้ากับหมู่คณะให้ได้ เพื่อเอาความเก่งออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์ เขาสอนให้ตีตะปูที่โผล่ขึ้นมา ไม่ได้บอกให้ถอนตะปูทิ้ง แต่ก็ไม่ใช่ทะนุถนอม ไม่ถึงขนาดโอ๋เอาใจคนเก่งประเภทข้ามาคนเดียว จนทำให้ทีมรวน
วิธีฝึกให้เกิดการทำงานเป็นทีมนั้น ผู้นำของทีมมีส่วนสำคัญอย่างมาก ทั้งการชี้แนะการทำเป็นแบบอย่าง ยกย่องผู้ที่ทำงานเป็นทีม   ให้ความสำคัญกับทีมมากกว่าตัวบุคคล  มอบหมายงานเป็นทีมให้คุณให้โทษเป็นทีม  และสิ่งหนึ่งที่อาตมาภาพอยากจะเน้นในที่นี้คือ  ความยุติธรรม
ปัจจุบันภาพลักษณ์ในใจของคนทั่วไป ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับบริษัทในประเทศญี่ปุ่น คือ พนักงานรักบริษัท จงรักภักดีกับบริษัทบางคนคิดว่า เป็นเพราะวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่เป็นอย่างนั้นประเทศอื่นเลียนแบบได้ยาก อาตมภาพอยากให้พวกเรามองอย่างนี้ว่า
วัฒนธรรมของชาติใดชาติหนึ่งย่อมมีผลต่อพฤติกรรมของคนชาตินั้นอย่างแน่นอน แต่วัฒนธรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่คงตายตัว สามารเปลี่ยนแปลงได้ ความจริง ก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ความสำเร็จที่แท้จริงนั้นมาจากการวางแผนอย่างเป็นระบบ และการลงมือทำงานอย่างต่อเนื่องจริงจังต่างหาก
พวกเราทราบหรือไม่ว่า เมื่อ ๓๐ กว่าปีก่อนนั้น คนงานของบริษัทใหญ่ๆ ในญี่ปุ่นก็เคยเดินขบวนประท้วงบริษัทกันอย่างหนักไม่แพ้ชาติไหนๆ
จนทำให้บริษัทแทบล้มละลายไปตามๆกันมาแล้ว ต่อมา ผู้บริหารจึงปรึกษาหารือกันหาทางออกที่ดีที่สุดนั่นคือ ต้องมีการแบ่งปันผลประโยชน์ให้อย่างยุติธรรม ผลกำไรของบริษัทแต่ละปีจะถูกแบ่งปัน ให้กับพนักงานทุกคนอย่างยุติธรรม ทั้งพนักงาน ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความรู้สึกรักบริษัทจึงเกิดมีขึ้น ทุกคนให้ความรู้สึกว่าบริษัทเป็นของเขา ต่างคนต่างทุ่มเททำงานกันเต็มที่ เพราะบริษัทได้กำไรมาก เขาก็จะได้ผลประโยชน์มากตามไปด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับผู้บริหาร จึงไม่ใช่เป็นศัตรูที่คอยแต่จะจ้องเอาเปรียบกันอีกต่อไป แต่กลายเป็นคนในทีมเดียวกัน มีผลประโยชน์ผลเสียร่วมกัน แบ่งหน้าที่กันทำตามความถนัดและความสามารถของแต่ละคนเท่านั้น
เมื่อบริษัทหนึ่งทำได้ผล บริษัทอื่นก็ทำตามอย่าง จนเป็นไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่น เรียกได้ว่า วัฒนธรรมความจงรักภักดีต่อบริษัทของญี่ปุ่นนั้น ถูกสร้างขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ ๓๐ ปีมานี่เอง และในอนาคต ถ้าเงื่อนไขเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป วัฒนธรรมนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน เมื่อมองกลับมาที่คนไทย แต่ละคนมีความสามารถเฉพาะตัวสูงไม่แพ้ใคร เคยมีผู้เปรียบเทียบเอาไว้ว่า ถ้าคนไทยกับคนญี่ปุ่นแข่งกันตัวต่อตัว คนไทยเราชนะขาด ถ้าแข่งขันกันสองต่อสองเริ่มสูสีแต่เมื่อไรแข่งขันเกินสามคนแล้วละก็ ญี่ปุ่นชนะขาด เพราะคนไทยมัวแต่ทะเลาะกัน ปัดแข้งปัดขากันเอง
เรามาช่วยกันสร้างนิสัยทำงานเป็นทีมให้เกิดขึ้นกับหมู่คณะของเรากันเถิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ค้นหาบล็อกนี้